ในการแถลงข่าว สถานการณ์โรคโควิด 19 และสายพันธุ์โอมิครอน ที่ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการติดตาม ผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 - 3 ม.ค. 2565 พบจำนวนรวม 2,062 รายใน 54 จังหวัด โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. พบเพิ่มถึง 282 ราย ครบทุกเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายดีแล้ว และผู้ที่รักษาตัวก็อยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้ออกมาภายนอก
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 2,062 ราย นั้น มีในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 585 ราย แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพียง 7 ราย ตรงข้ามกับจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากเป็นอันดับสองรองจากกทม. มีผู้ติดเชื้อ 233 รายก็จริง แต่ในจำนวนนี้มาจากต่างประเทศเพียง 2 ราย นอกนั้นเป็นผู้ติดภายในประเทศถึง 231 ราย
ขณะที่ร้อยเอ็ดตามมาเป็นอันดับสาม มีผู้ติดโอมิครอน 180 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศทั้ง 180 ราย ส่วนภูเก็ตเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีผู้ติดโอมิครอนรวม 175 รายส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ มีผู้ติดภายในประเทศเพียง 17 ราย นอกนั้น คือชลบุรี และสมุทรปราการ มีผู้ติดโอมิครอน 162 และ 106 รายตามลำดับ ติดในประเทศเพียง 70 และ 28 ราย (ตามลำดับ) ซึ่งทั้ง 6 จังหวัดที่เห็นในตารางนี้ เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากกว่า 100 รายขึ้นไป
"โอมิครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต เพราะคนเสียชีวิตวันนี้อาจติดเชื้อมาจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว และขอให้เข้าใจตรงกันว่า การติดเชื้อโควิดวันนี้ 70-80% ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งยังมีผลทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ( 608 หมายถึงคนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป และคนมีโรคประจำตัว 8 โรค)”
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเปิดเผยผลการศึกษาเคสผู้ป่วยในแอฟริกาใต้ที่น่าสนใจว่า จากการติดตามศึกษากรณีผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนแล้ว เมื่อเจาะเลือดตรวจดูหลังติดเชื้อ 14 วัน พบว่าเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา มีการเปรียบเทียบทั้งในคนติดโอมิครอนที่ฉีดวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีน พบว่าทั้งสองกลุ่มมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมา แต่คนที่ฉีดจะเพิ่มขึ้นมากกว่า
และเมื่อดูว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมา สามารถจัดการกับโอมิครอนและเดลตาได้มากน้อยแค่ไหน ก็พบว่า คนที่ติดโอมิครอนจะมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยหากติดเชื้อโอมิครอนซ้ำ ภูมิคุ้มกันก็จะจัดการกับเชื้อได้ ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตสำคัญที่ชี้ว่า เมื่อติดเชื้อโอมิครอนแล้วปรากฎว่าภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นนั้นยังสามารถป้องกันคนเราจากสายพันธุ์เดลตาได้ด้วย โดยจะมีภูมิคุ้มกันเดลต้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่ากว่าๆ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกราย
"สรุปก็คือ คนที่ฉีดวัคซีนหรือแม้กระทั่งไม่ฉีด เมื่อติดเชื้อโอมิครอนแล้ว หลังจากนั้น 14 วัน ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ด้วย เรื่องนี้น่าสนใจ หลังจากนี้โดยกรมวิทย์ฯ จะรวบรวมคนติดเชื้อโอมิครอนในไทย และเมื่อครบ 2 สัปดาห์จะนำเลือดมาตรวจว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถจัดการกับเชื้อเดลตาได้มากน้อยแค่ไหน หากจริงตามนี้ก็หมายความว่า การติดเชื้อโอมิครอนอาจไม่ได้มีผลร้ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ไปรับเชื้อ ต้องแปลความดีๆ อันนี้คือ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์" นพ.ศุภกิจ กล่าว