กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศ“โควิด-19”เป็นโรคประจำถิ่น

10 ม.ค. 2565 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2565 | 17:16 น.

กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ทั้งชู 4 มาตรการรับมือการระบาดในระยะต่อไป

วันนี้ (วันที่ 10 มกราคม 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนรับมือการระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทยว่า เราสู้กันมา 3 ปี ในปีแรกที่โรคเข้ามาคิดว่าน่าจะเหมือนไข้หวัดนก โรคซาร์ส เราสู้กันสักพัก และสามารถลดเคสได้รวดเร็วแต่เนื่องจากระบาดทั่วโลกที่วนไปมา จึงกลับเข้ามาอีกที โดยเข้ามาหนักในปี 2564 ช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. และหนักมากในเดือน ก.ย. จึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ หลังจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้การติดเชื้อลดน้อยลง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้โรคบรรเทาลง จนเราเปิดประเทศด้วยแผนอยู่กับโควิด (living with Covid-19) เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ด้วยเชื้อโอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย อัตราตายต่ำแต่เชื้อแพร่ได้เร็ว “กรมควบคุมโรค จึงพิจารณาว่าเตรียมให้การระบาดโควิด-19ครั้งนี้เข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ได้แล้ว" เนื่องจากเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ 1.เชื้อลดความรุนแรง 2.ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี 3.การบริหารจัดการ ดูแลรักษา และการชะลอการระบาดได้อย่างดี

 

กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศ“โควิด-19”เป็นโรคประจำถิ่น

 

ดังนั้นยุทธศาสตร์ปี 2565 คือ การชะลอการแพร่ระบาด การติดเชื้อไม่น่ากลัว แต่เรากลัวการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้ล้นโหลดระบบสาธารณสุข หรือเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้น เราต้องชะลอการระบาด และค่อยๆ รับมือ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง เราก็จะวางมาตรการดูแลในการแพทย์ การสาธารณสุขต่อไป

ส่วนแผนรับมือการระบาดโรคโควิด-19 ในระยะต่อไป ว่า แบ่งเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่

 

1.มาตรการสาธารณสุข ใช้แนวทางการชะลอการระบาด เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลทุกคนได้ เพิ่มวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ยืนยันว่า วัคซีนมีคุณภาพและมีความเพียงพอ ตรวจ ATK จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนตรวจคัดกรองตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจที่คลินิก สถานพยาบาลได้ และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

 

2.มาตรการการแพทย์ เนื่องจากโรคไม่มีความรุนแรง จึงเน้นการดูแลมาใช้แบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation)

 

โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ ถ้าเรายังต้องอยู่ในสถานพยาบาล ก็ยังเป็นโรคที่มีความร้ายแรง แต่ปัจจุบัน ถ้าโรคไม่แรง ก็ดูแลจากที่บ้านได้ ดังนั้น เราจะต้องมีระบบสนับสนุน ส่งยา เวชภัณฑ์ให้ผู้ติดเชื้อที่บ้านอย่างปลอดภัย มีระบบส่งต่อหากอาการรุนแรงได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

 

3.มาตรการสังคม ประชาชนยึดหลักป้องกันตัวเองสูงสุด (Universal Prevention) เลี่ยงการเข้าสถานที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเคร่งครัดให้สถานบริการปลอดโควิด-19 (Covid free setting)

 

4.มาตรการสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลและการตรวจหาเชื้อ

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ด้วยว่า ระยะการระบาดนี้ เราจะเน้นตรวจ ATK เป็นหลัก เรียกว่า ATK First เพราะเราศึกษาจากการใช้หลายล้านชิ้น พบว่า มีประสิทธิภาพ สามารถดักจับโควิด-19 ได้ดีมาก สามารถใช้ตรวจประจำได้ เพื่อป้องกันระบาด ต่อไปเราต้องใช้เป็นประจำ ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการที่ทำให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ประเทศเดินต่อไปได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน สธ.จะพยายามบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ในปีนี้

 

หากกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีอาการจะใช้การตรวจ RT-PCR สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อความเหมาะสม ดังนั้น สธ.จึงอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามการระบาดครั้งนี้ออกไป ให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ด้วยมาตรการ VUCA คือ Vaccine , Universal Prevention , Covid Free setting และ ATK