วันนี้ (12 ม.ค.65) เวลา 12.40 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ช่วงหนึ่งถึงทิศทางการระบาดของโควิด-19 ว่า ดูจากกราฟจะเห็นว่า 2-3 วันมานี้ มีทิศทางทรงๆและเหมือนจะลดลงอย่างช้าๆ
วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 7,681 ราย น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอและควบคุมการระบาด ถ้าคิดเป็นการติดเชื้อต่อแสนประชากรในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีใหม่จนถึงวันนี้อยู่ที่ 100 ต่อ 100,000
สำหรับเรื่องการเสียชีวิตในการระบาดระลอกเดือนมกราคม 2565 จะพบว่า ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าระลอกเดือนเมษายน 2564 ส่วนหนึ่งมาจากความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น
ในวันนี้ตัวเลขที่เป็นสัดส่วนของคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 รายที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรค ดูจากผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นจะมีลักษณะแบบนี้
โควิดเริ่มจะมีทิศทางเป็นแบบโรคประจำถิ่น คือ เราจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคได้ แต่โควิดแตกต่างจากโรคประจำถิ่นอื่นๆ เพราะการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับโรคให้ได้ ต้องเป็นชีวิตวิถีใหม่ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน อยู่ห่าง ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือถ้าเราได้รับเชื้อ ก็จะไม่แพร่เชื้อไปให้ใคร
"บ้านเรายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเลย ดังนั้นความรุนแรงของโอมิครอนถ้าเทียบกับเดลต้า ถือว่า น้อยกว่าเดลต้ามาก"พญ.สุมนี กล่าวและว่า
สรุปสถานการณ์ลักษณะของโรค วันนี้ลักษณะของโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการได้รับวัคซีน ระบบการดูแลรักษามีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ จากข้อมูลในวันนี้ทั้งอัตราผู้ป่วยหนัก อัตราการเสียชีวิต ก็อยู่ในระดับที่ต่ำ และจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ถ้ายังเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล หรือมาตรการของสถานที่ Covid Free Setting เราก็จะมีความหวังว่า ในปีนี้ โรคนี้จะเปลี่ยนจากโรคระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น