น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
แคนาดาเอาจริง จะเก็บภาษีสุขภาพเพิ่ม เฉพาะคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนโควิด
หลังจากที่มีการระบาดของโควิดต่อเนื่องกันมาครบ 2 ปีแล้วนั้น
การควบคุมโรคระบาดวิธีหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลต่อการลดการนอนโรงพยาบาลก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน
แต่เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนใหม่ ที่มีเวลาวิจัยพัฒนาค่อนข้างสั้น คือประมาณหนึ่งปี
ปกติวัคซีนทั่วไป ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี
ทำให้วัคซีนเกือบทั้งหมดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ได้รับการอนุมัติในลักษณะสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA)
ทำให้ในช่วงแรก มีคนจำนวนหนึ่งแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน เรื่องผลข้างเคียงที่จะตามมา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผลระยะสั้นที่กังวล เช่น ลิ่มเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกจนเสียชีวิต
ส่วนผลระยะยาวที่มีความกังวลกัน ก็คือเกรงว่าจะไปทำให้พันธุกรรมในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวัคซีนใหม่เอี่ยมที่ใช้เทคโนโลยี mRNA
จึงเกิดกลุ่มคนไม่ยอมฉีดวัคซีนขึ้น โดยเฉพาะปรากฏชัดเจนในซีกโลกตะวันตก
และจากการสำรวจความสมัครใจผู้ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ก็จะพบตัวเลขผู้สมัครใจฉีดในซีกโลกตะวันตกน้อยกว่าในซีกโลกตะวันออก
จึงกลายเป็นปัญหายุ่งยากสำหรับประเทศที่มีผู้ไม่ยอมฉีดวัคซีน
และไม่ว่าต่อมาภายหลัง จะมีข้อมูลเพิ่มเติมทั้งทางห้องปฏิบัติการ และสถานการณ์จริงว่า ผลข้างเคียงนั้นมีน้อยมาก และความปลอดภัยค่อนข้างดี ก็ยังคงยืนยันจะไม่ยอมฉีดวัคซีน
แคนาดาเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง และให้เสรีภาพกับประชาชนในหลายเรื่องมาโดยตลอด
ก็ประสบปัญหาคนไม่ยอมฉีดวัคซีนเช่นกัน โดยเฉพาะในรัฐควิเบค ซึ่งมีประชากร 12.8% ไม่ยอมฉีดวัคซีน
และคนเหล่านี้เมื่อติดเชื้อ จะป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสัดส่วน 33% และเข้าไอซียู 45% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
ทำให้เป็นภาระกับคนอีกเกือบ 90% ซึ่งฉีดวัคซีนแล้ว จะต้องนำเงินภาษีมาดูแลคนส่วนน้อยที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน
ทำให้ผู้บริหารของรัฐต้องออกมากล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ ทั้งที่คนส่วนน้อยสามารถที่จะฉีดวัคซีนและลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้
จึงเตรียมออกมาตรการเก็บภาษีสุขภาพเฉพาะคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น
เพื่อนำเงินดังกล่าว ไปใช้รักษาคนที่ป่วยโควิดและต้องนอนโรงพยาบาล
ซึ่งก็เป็นปกติที่จะมีคนเห็นต่าง มักจะเป็นคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนนั่นเอง
โดยกล่าวว่าไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ แต่ผู้บริหารของควิเบคก็ไม่สนใจเสียงเหล่านั้น เพราะมีหลักคิดที่ชัดเจนว่า คนไม่ฉีดวัคซีนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
เรื่องทำนองนี้ก็เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลประกาศว่า ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนเมื่อป่วยเป็นโควิดเข้าโรงพยาบาล จะต้องออกค่าใช้จ่ายรักษาเอง
และในประเทศกรีก ก็ประกาศให้ประชาชนที่อายุเกิน 60 ปีและไม่ยอมฉีดวัคซีน จะต้องเสียค่าปรับประมาณ 3700 บาท
สำหรับประเทศไทยเรา ยังคงใช้วิธีทำความเข้าใจและขอร้องให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มาช่วยกันฉีดวัคซีน ยังไม่ได้มีมาตรการเข้มข้นเช่นเดียวกับประเทศดังกล่าวข้างต้น