รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
อย่าเพิ่งด่วนตีปีกกระดี๊กระด๊าเกินไป ด้วยการเร่งรีบว่าพร้อมอยากผ่อนคลายโน่นนี่นั่นจนดูเกินงาม แม้ตัวเลขยอดรวมผู้ป่วยใหม่ของวันนี้จะยังทรงที่ระดับหนึ่งหมื่นกว่า (ยืนยันว่าต้องนับ ATK ด้วย)
แต่อย่างที่ทักเมื่อวานว่าตัวเลขผู้ป่วยหนักกำลังเพิ่มขึ้นเกิน 500 วันนี้ไปต่อเป็นวันที่สามแล้ว และเริ่มเห็นการเสียชีวิตในการระบาดระลอกห้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน
แม้จะเป็นจำนวนไม่มากและเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็มีผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบเสียชีวิตด้วยเช่นกัน
อีกทั้งการควบคุมแหล่งแพร่เชื้อในสถานที่เสี่ยงก็ยังไม่เห็นว่าทำอะไรได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้การที่ระลอกนี้มีลูกเด็กเล็กแดงป่วยเป็นโควิดกันพอควร แม้จะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง แต่ผลกระทบระยะยาวต่อพัฒนาการสู่เยาวชนอนาคตของชาติยังไม่มีใครบอกได้
ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ การระบาดยังไม่เริ่มสงบ และการระบาดลุกลามเข้ามาในบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรวัยทำงานสาขาวิชาชีพอื่น
ที่โรงเรียนแพทย์ริมน้ำยอดตรวจหาเชื้อรายวันขึ้นไปจุดขีดความสามารถสูงสุดที่ทำได้ในแต่ละวันแล้ว โดยเป็นการตรวจในบุคลากรของที่นี่เองกว่า 50%
และสำหรับคนนอกนั้นเกือบครึ่งเป็นกลุ่มไม่มีอาการแต่ต้องมาเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล ความชุกของผลการตรวจเป็นบวกก็ยังอยู่ระหว่าง 10-15%
นั่นหมายความว่าโรคได้ระบาดแพร่เป็นวงกว้างเข้าไปในชุมชน จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกันมากตามไปด้วย
และส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากนอกที่ทำงาน ซึ่งทำให้บุคลากรที่พร้อมทำงานลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันก็ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อในที่ทำงานจากเพื่อนร่วมงานและจากผู้มาใช้บริการด้วยเช่นกัน
ที่ยังวางใจกันไม่ได้คือ ถ้าโอมิครอน (Omicron) ระบาดในวงกว้างแล้ว จะมีการกลายพันธุ์อื่นของเชื้อนี้สอดแทรกเข้ามาอีกหรือไม่
ก่อนที่โควิดจะกลายเป็นโรคไข้หวัดตามฤดูกาลอีกโรคหนึ่งดังที่หลายคนตั้งความหวัง อย่าลืมว่ากว่าจะมาเป็นโอมิครอนในทุกวันนี้ ที่กลายพันธุ์ไปจนหลบรอดวัคซีนได้มากขึ้น
และติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้นนั้น ต้องผ่านการสั่งสมปรับตัวต่อเนื่องยาวนาน
หากรีบปล่อยให้การระบาดลุกลามต่อไปเพราะเห็นว่าเชื้อไม่รุนแรงต่อคนที่แข็งแรงดี
ถ้าเกิดการปรับตัวของเชื้อหนีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ไปได้อีกรอบ คงต้องได้วิ่งวุ่นไล่ตะครุบตัวมาศึกษาหาทางป้องกัน ด้วยการปรับแก้ไขวัคซีนรุ่นใหม่กันไม่หยุดหย่อนต่อไปไม่รู้จบอีกเลยเป็นแน่แท้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 17 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6,929 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 101,979 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,255 ราย กำลังรักษา 82,210 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 58,772 ราย