รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
21 มกราคม 2565 ทะลุ 342 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,204,984 คน ตายเพิ่ม 7,992 คน รวมแล้วติดไปรวม 342,530,372 คน เสียชีวิตรวม 5,591,612 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และบราซิล
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 85.64% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 86.51%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 46.15% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 37.24%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก
Omicron (โอมิครอน) ถล่มเอเชียหนัก
อินเดียติดเพิ่มถึง 344,859 คน หากคุมไม่อยู่โดยเร็ว อาจแซงสถิติเดิมที่สูง 414,433 คน ณ 6 พ.ค. 2564
ในขณะที่ตอนนี้ญี่ปุ่นนั้น ระบาดระลอกที่ 6 ล่าสุดติดเพิ่ม 39,841 คน ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการระบาดมา และสูงกว่าระลอกที่ 3 เมื่อต้นปีก่อนถึง 5 เท่า
อัพเดตความรู้
Spudich S และ Nath A ตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสาร Science เมื่อวานนี้ 20 มกราคม 2565
การติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) นั้น นอกจากจะเกิดอาการป่วยต่างๆ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น ยังทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาท ทั้งในระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และอาการในระยะยาว
กระบวนการเกิดปัญหาระยะยาวในผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้น มาจากกระบวนการอักเสบของระบบประสาท (Neuroinflammation)
รวมถึงการยังคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในเซลล์สมอง เส้นเลือดฝอยถูกทำลายและรั่วจนนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง และ/หรือการทำลายเซลล์ประสาทโดยกระบวนการอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
พยาธิสภาพต่างๆ ข้างต้นนำไปสู่อาการผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาด้านความคิดความจำ ปัญหาทางอารมณ์ ฯลฯ
ป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นกิจวัตร ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า รักษาระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
วางแผนงานและการใช้ชีวิต พบปะเจอหน้ากันเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ และเลี่ยงการกินดื่มร่วมกับคนอื่น