รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
20 มกราคม 2565 ทะลุ 338 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,209,137 คน ตายเพิ่ม 8,149 คน รวมแล้วติดไปรวม 338,878,325 คน เสียชีวิตรวม 5,582,064 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย บราซิล และอิตาลี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 83.92% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 84.36%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 46.4% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 41.35%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ภาพรวมทวีปยุโรปและอเมริกากำลังขาลง
แต่ทวีปเอเชีย และอเมริกาใต้ตอนนี้ดูเป็นขาขึ้นมากหลายประเทศ
แถบเอเชียอย่างอินเดีย ติดเพิ่มกว่าสามแสนคน ในขณะที่ตุรกี อิสราเอล ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ก็เพิ่มขึ้นหลายหมื่นในแต่ละวัน
ที่น่าสังเกตคือ แอฟริกาใต้ที่โดนระลอก Omicron (โอมิครอน) ไปตั้งแต่ปลายปีก่อน ติดเชื้อจำนวนมาก โดยจำนวนเสียชีวิตที่รายงานในช่วงนั้นน้อยมาก
แต่ปัจจุบันที่จำนวนการติดเชื้อลดเหลือหลักพัน เป็นขาลงชัดเจน โดยกลับมีรายงานจำนวนเสียชีวิตที่เป็นขาขึ้นชัดเจน สะท้อนความเป็นไปได้ของระยะเวลาที่เหลื่อมกันมากของระบบรายงาน
ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
พบคนน้อยลง สั้นลง เท่าที่จำเป็น และอยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่น ไม่แชร์ของกินของใช้
การติดเชื้อ Omicron แม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่หลักฐานวิชาการจนถึงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน จะมีภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID ได้สูงถึง 20-40%
และภาวะ Long COVID นั้น จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีปัญหาระยะยาวได้ ทั้งเรื่องระบบสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ
นอกจากนี้ในเด็ก ยังส่งผลให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจะเรื้อรังไปตลอดชีวิตได้ด้วย
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด