พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค เป็นตัวแทน ศบค. แถลง สถานการณ์โควิด-19 ประจำวันนี้ (7 ก.พ.) ว่า จากการคาดการณ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในหลักหมื่นต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ และยังสามารถควบคุมได้
แต่ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วและมีอาการหนักหรือเป็นผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตปัจจุบันเมื่อเทียบกับระลอกเดือนเม.ย.2564 ถือว่าลดลงอย่างมาก อีกทั้งขณะนี้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคงตัว ซึ่งระบบสาธารณสุขในปัจจุบันของประเทศไทยยังคงรองรับได้ แต่จะดีที่สุดก็ไม่ควรติดเชื้อจึงขอประชาชนให้เคร่งครัดมาตรการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
เกี่ยวกับ กรณีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ พญ.สุมนี กล่าวว่า ยังคงพบคลัสเตอร์ต่างๆ กระจายเป็นคลัสเตอร์เล็กๆในหลายจังหวัด เช่น คลัสเตอร์จากงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพและงานบวช ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากในแต่ละคลัสเตอร์แต่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายสูงสำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนโดยแพร่กระจายไปในครอบครัว ทำให้มีอัตราการติดเชื้อภายในครอบครัวอยู่ที่ระดับ 40-50% ขณะที่หากเทียบกับอัตราการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลต้าพบว่าอัตราการแพร่กระจายในสมาชิกครอบครัวอยู่ที่ 10-20% เท่านั้น จะเห็นได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดง่ายกว่า
นอกจากนี้ ยังมี สถิติเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน คลัสเตอร์รูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดวันนี้ (7 ก.พ.) คือ คลัสเตอร์ตลาด พบที่ กทม.มากที่สุด 66 ราย ตามมาด้วย
โดยในคลัสเตอร์ตลาดนั้น พบปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อส่วนใหญ่มาจากเรื่องสถานที่ที่มีอากาศปิด แผงในตลาดไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบ มีคนหนาแน่นทั้งคนที่ทำงานในตลาด และผู้ที่ไปซื้อของ รวมถึงไม่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง สวมไว้ใต้คาง ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีจุดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานที่ทำงานในตลาด 1 รายไปทำงานในหลายที่ ซึ่งเป็นแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและแพร่ระบาด ดังนั้น เพื่อลดการแพร่ระบาดและการติดเชื้อ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้าในเรื่องสภาพแวดล้อม ทั้งการปรับสภาพแผงการขายให้เป็นระเบียบ และปรับการระบายอากาศให้มีอากาศถ่ายเท หรือความเสี่ยงเกิดจากการสัมผัส ธนบัตร เนื้อสัตว์ผักและผลไม้โดยตรง โดยป้องกันได้ด้วยการล้างมือทุกครั้ง
สำหรับ “คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิง” ที่เคยเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดใหญ่หลังปีใหม่ ขณะนี้ถือว่ามีการระบาดน้อยลงเมื่อเทียบกับคลัสเตอร์อื่นๆ โดยพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ดังกล่าวที่ขอนแก่น 15 ราย ร้อยเอ็ด 13 ราย มหาสารคามและประจวบคีรีขันธ์ 9 ราย สุพรรณบุรี ชลบุรี จังหวัดละ 5 ราย อุดรธานี สงขลา ชุมพร แพร่และน่าน จังหวัดละ 2-3 ราย
โดยล่าสุดจังหวัดมหาสารคาม ได้ออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดทานข้าวร่วมกันในกิจกรรมประชุม การจัดเสวนา กิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ รวมถึงงานประเพณี รวมถึงงดรับประทานอาหารร่วมกันในสถานที่ราชการ สถานที่ทำงาน และสถานประกอบการ
พญ.สุมนี กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-5 ก.พ.นี้ ประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยทำงาน อยู่ในช่วงอายุ 20-49 ปี 55% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดถึง 47.3% และจากการที่ไปสถานที่เสี่ยงหรืออยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆถึง 48.4% นอกนั้น เป็นการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 0.7% และผู้ที่ตรวจATK และผลเป็นบวกแล้วไปตรวจยืนยันแบบ RT-PCR 3.6% และยังพบว่า ไม่มีอาการ 45.1% และมีอาการป่วยเล็กน้อย 54.86% และกลุ่มที่มีอาการอยู่ที่ 0.68%