กุมภาพันธ์ เป็นเดือนแห่งความรัก เพราะนอกจากจะมี "วันวาเลนไทน์" ที่เป็นวันแห่งความรักสากลในวันที่ 14 ก.พ.แล้ว ยังมี “วันมาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรักที่พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีแด่มนุษยชาติผู้มีดวงตาเห็นธรรม (ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 ก.พ.) นอกจากนี้ ในประเทศไทยเรายังมี วันที่ 13 ก.พ. เป็น “วันรักนกเงือก” อีกด้วย
นกเงือก หรือ ฮอร์นบิลล์ (Hornbill) นั้น เป็นสัตว์ที่ทีพฤติกรรม “รักเดียวใจเดียว” เป็นสัตว์ที่จับคู่เพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยมันจะอยู่กับคู่ของตัวเองจนกว่าจะตายจากกันไป ซึ่งการตายของนกเงือกตัวผู้ จะส่งผลกับนกเงือกตัวเมียและลูกของมันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเมียกำลังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกเงือกในรังซึ่งมักจะเป็นโพรงในยอดไม้สูง ถ้าหากนกเงือกตัวผู้ออกไปหาอาหารและมีเหตุใด ๆ ทำให้ต้องตายไประหว่างทาง ตัวเมียกับลูกก็จะเฝ้ารออยู่ในรังจนกระทั่งมันอดอาหารตายในที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อนกเงือกตัวผู้เกิดอาการสนใจนกเงือกตัวเมียตัวใดขึ้นมา มันก็จะเทียวนำอาหารไปให้เหมือนเป็นของฝาก-ของกำนัล ซึ่งหากเมื่อใดที่นกเงือกตัวเมียยอมรับอาหารจากนกเงือกตัวผู้ นั่นก็เป็นเหมือนการตกปากรับคำว่า จะอยู่เคียงคู่กันตลอดไปจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตายจาก
อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทางมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 และดำเนินกิจกรรมสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
นักวิจัยยกให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก การดำรงอยู่และจำนวนของนกเงือกนั้นสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบรูณ์ของผืนป่า การเพิ่มหรือลดจำนวนของนกเงือกจึงมีนัยยะสำคัญ ที่สะท้อนถึง “สภาพ” หรือ “ความอุดมสมบูรณ์” ของผืนป่านั้นๆ
ทั้งนี้ นกเงือก หรือ Hornbill เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ถือกำเนิดมานานประมาณ 50-60 ล้านปี เป็นนกขนาดใหญ่ จุดเด่นของนกเงือก คือ จงอยปากที่ใหญ่หนา รวมทั้งมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรงซึ่งภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ทั่วโลกมีนกเงือกอยู่มากกว่า 50 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในประเทศแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกาและเอเชีย
ปัจจุบัน นกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก ประกอบด้วย
เรามักจะพบเห็นนกเงือกได้ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีสถิติจำนวนนกเงือกในผืนป่าของไทยราว 3,000 ตัว
เหตุผลที่นกเงือกเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ ก็เพราะมันเป็นนกที่จำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ ซึ่งด้วยความสูงของยอดไม้ไม่ต่ำกว่า 30 เมตรนั้น หมายความว่า ต้นไม้ใหญ่ลักษณะนี้มักจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่มากแล้ว และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์
หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5% หนึ่งชีวิตของนกเงือกก็จะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้นเลยทีเดียว
นกเงือกได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง ซื้อขายฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร