ยกเลิก UCEP โควิดวิกฤตฉุกเฉิน บัตรทอง-ประกันสังคม ยังรักษาฟรีหรือไม่

13 ก.พ. 2565 | 22:15 น.

ไขข้อข้องใจ หากรัฐยกเลิกโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ หรือ UCEP แล้ว ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิ สวัสดิการข้าราชการ บัตรทอง หรือประกันสังคม ยังรักษาฟรีหรือไม่

จากกรณีที่มีกระแสข่าวการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ (UCEP) มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลนั้น

 

ล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปลดโรคโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ยังรักษาฟรีทุกโรคไม่เฉพาะแค่โควิดเท่านั้น 

 

แต่หากมีการประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกมาให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็ยังสามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ โดยผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ยังดูแลค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว และประชาชนถ้าป่วยด้วยโรคโควิด-19 หากไปเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแล

 

ทั้งนี้ สปสช. ขอทำความเข้าใจว่า หลักการระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ 

 

1.เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง เป็นต้น 

 

2.หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน 

สำหรับอาการฉุกเฉินวิกฤตที่ส่งลต่อชีวิตและอวัยวะสำคัญของร่างกายผู้ป่วยนั้น มีด้วยกัน 6 อาการ ดังนี้

 

  • หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียก หรือกระตุ้น ต้องได้รับการกู้ชีพทันที
  • การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่กับคนที่คุ้นเคย ผิดเฉียบพลัน
  • ระบบหายใจมีอาการวิกฤต ทั้งหายใจไม่ปกติ หายใจเร็ว แรงและสึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้น ๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ หรือสำลัก อุดทางเดินหายใจ กับมีอาการเขียวคล้ำ
  • ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต ทั้ง ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกท่วมตัว หรือหมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกหรือยืน
  • อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ 
  • อาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด หรือชักเกร็ง

 

อย่างไรก็ตามในอนาคตหากโรคดังกล่าวไม่ได้ถูกประกาศว่า เป็นภาวะอาการฉุกเฉินวิกฤตแล้ว สปสช. ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่าง ๆ จะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้ 

 

“การจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้นให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้น ๆ จะตามไปดูแลต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว