เดลตาครอน (Deltacron) เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน (Hybrid) ของสายพันธุ์เดลตากับสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) โดยถูกพบ และประกาศให้โลกรับรู้ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคม จาก เลออนดิโอส คอสตริกิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาลัยไซปรัสและหัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสโมเลกุล
ทั้งนี้ นักชีวชาวไซปรัส ได้ระบุว่า ค้นพบไวรัสที่มีสารพันธุกรรมคล้ายกับเดลตาและโอมิครอนในตัวอย่างจากผู้ป่วยจำนวน 25 รายที่ประเทศไซปรัส ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นตรงที่มีการกลายพันธุ์ 30 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้ 10 ตำแหน่งพบในตัวอย่างที่เก็บได้ในไซปรัส
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาได้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เป็นทางการระหว่างประเทศ (GISAID) พบว่า เดลตาครอนไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่
แต่น่าจะมาจากการปนเปื้อนของสารพันธุกรรมไวรัสสองชนิดในระหว่างการตรวจตัวอย่างในห้องปฏิบัติการทำให้เรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Deltacron เงียบหายไป
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางการอังกฤษได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสองสายพันธุ์ในคนคนเดียวกันและเวลาเดียวกัน
โดยขณะนี้หน่วยงานเป็นทางการของอังกฤษ (UKHSA : UK Health Security Agency) ได้ทำการติดตามและตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ต่อผู้ติดเชื้อรายแรกที่เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างไวรัสสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน
ทางอังกฤษแจ้งว่าไม่สามารถระบุได้ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดขึ้นที่อังกฤษ โดยให้เหตุผลว่าอาจจะเกิดขึ้นที่อื่นก็ได้ เพียงแต่ตรวจพบเป็นแห่งแรกหรือเคสแรกของโลกที่อังกฤษ
ขณะที่ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้มีการโพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ซึ่งมีข้อความระบุว่า
คงจะต้องติดตามไวรัสลูกผสม (Hybrid) แบบนี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็เคยพบการผสมกันของ 2 สายพันธุ์มาแล้ว อย่างน้อย 2-3 ชนิด
ส่วนก่อนหน้านี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยกล่าวไว้ว่า หากมีโควิดสายพันธุ์เดลตาครอน จะเกิดความน่ากลัว เพราะจะมีความรุนแรงมากขึ้น และบวกกับความสามารถของโอมิครอนที่แพร่กระจายได้เร็ว อาจสร้างปัญหาใหญ่ให้กับทุกประเทศก็เป็นได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมีการแพร่ระบาดมากกว่าเดลตากับโอมิครอนหรือไม่ หรือสายพันธุ์เดลตาครอนจะถูกกลืนด้วยความรวดเร็วของการระบาดจากสายพันธุ์โอมิครอน