6 วิธีตรวจฉลาก ชุดสังฆทาน – ชุดไทยธรรม วันมาฆบูชา ไม่ให้ถูกโกง

15 ก.พ. 2565 | 22:11 น.

เปิดวิธีการเลือกซื้อ ชุดสังฆทาน และ ชุดไทยธรรม ในวันมาฆบูชา 2565 อย่างไรให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ไปทำบุญ พร้อมแนะนำการตรวจฉลากสินค้าที่ถูกต้อง จากสคบ. ลดปัญหาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ผู้บริโภคหลายคนมักจะนึกถึงการเข้าวัดทำบุญ ทำทาน และนิยมเลือกซื้อสินค้าประเภท ชุดสังฆทาน และ ชุดไทยธรรม เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

 

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบวิธีการเลือกซื้อชุดสังฆทานหรือการซื้อของมาจัดชุดสังฆทานเองให้ได้บุญอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร 

 

นั่นเพราะปัจจุบันยังมีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายบางรายฉวยโอกาสในการบรรจุสินค้าที่หมดอายุลงไปในชุดสังฆทานและนำไปวางขายโดยไม่ติดฉลาก เมื่อผู้บริโภคซื้อโดยไม่ได้สังเกตว่ามีฉลากติดอยู่หรือไม่จึงทำให้เป็นการถวายชุดสังฆทานที่ได้บาปแทนที่จะได้บุญ ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเป็นอย่างมากและเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายไม่ควรกระทำ

 

ฉลากชุดสังฆทาน

ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ โซเชียลเกี่ยวกับกรณีสินค้าที่นำมาใส่ในถังสังฆทานไม่มีคุณภาพ กรณีดังกล่าว ถือว่าอยู่ภายใต้กฎหมายของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดว่า

 

ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2550) เรื่อง ให้ ชุดสังฆทาน และชุดไทยธรรม เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก 

 

สคบ. ตรวจชุดสังฆทาน

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย กำหนดข้อความที่ต้องมีการระบุใน ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม (ชุดไทยทาน) จะต้องมีการระบุรายการสินค้าไว้ในฉลาก ดังนี้

  1. ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ 
  2. ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือขุดไทยธรรม 
  3. วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวัน เดือน ปี ที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นต้องระบุว่าเร็วที่สุด 
  4. วันเดือนปีที่บรรจุ 
  5. ราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท 
  6. กรณีชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมใดที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้น ให้ระบุคำเตือนในฉลากด้วย 

 

หากร้านค้าขายชุดสังฆทาน โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่การแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้องกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษดังนี้ 

 

  • จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • กรณีเป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สคบ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายชุดสังฆทานและ ชุดไทยธรรม เพื่อตรวจสอบแนะนำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายให้จัดทำฉลากของสินค้าให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกซื้อชุดสังฆทานและขุดไทยธรรมไปถวาย พระภิกษุสงฆ์เพื่อทำบุญเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล 

 

อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจหรือพบว่า ชุดสังฆทาน และชุดไทยธรรม ไม่มีการจัดทำฉลาก หรือมีการจัดทำฉลากแต่ฉลากสินค้านั้นไม่ถูกต้องสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ 

  • สายด่วน สคบ. 1166 
  • ทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th 
  • ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค (OCPB Complain Mobile Application)