จากกรณีที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 มีมติเห็นชอบตามที่ ราชบัณฑิตยสภา เสนอการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ดินแดน และเมืองหลวงใหม่ ของ "กรุงเทพมหานคร" ให้ถูกต้องและชัดเจน จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakon”
จนทำให้ล่าสุด ราชบัณฑิตยสภา ออกมาชี้แจงว่า "กรุงเทพมหานคร" ยังใช้ได้ทั้ง “Krung Thep Maha Nakhon" และ “Bangkok” นั้น
รู้หรือไม่ว่าความสำคัญของ กรุงเทพมหานคร ในปี 2565 กำลังจะมีอายุครบ 240 ปี ในวันที่ 21 เมษายน นี้ นับตั้งแต่มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เมื่อกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา
รู้จักกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เพราะเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศไทย ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยามีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี
มีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. และมีประชากรตามทะเบียนราษฎรกว่า 6 ล้านคน ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเป็นเอกนคร (Primate City) เพราะมีประชากรมากกว่านครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ถึง 40 เท่า
โดยพื้นที่ในปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า "บางกอก" (Bangkok) มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ เป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก
ส่วนบริเวณปากน้ำตรงอ่าวไทย เรียกกันว่า นิวอัมสเตอร์ดัม มีชุมชนใหญ่และโกดังของชาวต่างประเทศไว้สำหรับพักสินค้า ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณอำเภอพระประแดง
ประวัติกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร จากที่มาของคำว่า "บางกอก" (Bangkok) นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า บางเกาะ หรือ บางโคก หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า บางมะกอก โดยคำว่า บางมะกอก มาจากชื่อของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดดังกล่าว และต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่าบางกอก
ต่อมาเมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2313 ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในวันที่ 6 เมษายน 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
มีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา
พระองค์มีพระบรมราชโองการให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่ดินเพื่อสร้างพระนครใหม่ในวันที่ 8 เมษายน 2325
ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก ตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน 2325
ที่สุดของกรุงเทพมหานคร