รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
โดยสาระสำคัญของร่างประกาศยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2544 และให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน ปี2564
ทั้งนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง เช่น เมืองหลวงของประเทศไทย ให้แก้ไขชื่อเมืองหลวง โดยเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) กรุงเทพมหานคร
เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ให้เพิ่มชื่อเมืองหลวงตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษามลายู เป็น Kuala Lumpur กัวลาลัมเปอร์, กัวลาลุมปูร์
ประเทศอิตาลี ให้แก้ไขชื่อประเทศที่เป็นทางการตามที่ใช้ในปัจจุบันและเพิ่มชื่อเมืองหลวงตามการออกเสียง ชื่อประเทศ จาก Italy : Republic of Italy อิตาลี : สาธารณรัฐอิตาลี เป็น Italy: Italian Republic อิตาลี: สาธารณรัฐอิตาลี ส่วนเมืองหลวง จาก Rome โรม เป็น Rome, Roma โรม, โรมา
ประเทศเมียนมา หรือ สหภาพพม่า Myanmar , Union of Myanmar ให้แก้ไขชื่อประเทศตามการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการออกเสียง และแก้ไขชื่อเมืองหลวงตามการย้ายที่ตั้งเมืองหลวง เป็น Myanmar: Republic of the Union of Myanmar เมียนมา, พม่า : สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ เมืองหลวงจาก Yangon ย่างกุ้ง เป็น Nay Pyi Taw เนปยีดอ
ขณะประเทศเนปาล Nepal : Kingdom of Nepal เนปาล :ราชอาณาจักรเนปาล ให้แก้ไขชื่อประเทศตามการเปลี่ยน แปลงการปก ครอง เป็น Nepal: Federal Democratic Republic of Nepal เนปาล: สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ส่วนชื่อเมืองหลวงยังคงเดิม คือ Kathmandu กาฐมาณฑุ
ทั้งนี้คำว่า "กรุงเทพมหานคร" แปลว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์มีความหมายว่า
พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
โดยนามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์มาถึงปัจจุบัน