รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด -19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 17 ก.พ. 65 ในประเทศไทย
ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ทะลุ 417 ล้านแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,020,469 คน ตายเพิ่ม 10,193 คน รวมแล้วติดไปรวม 417,859,246 คน เสียชีวิตรวม 5,866,725 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล ฝรั่งเศส และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 98.01% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 97.92%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 53.44% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 38.34%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น มีข้อมูลวิชาการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ติดเชื้อ รักษา แล้วจะจบ แต่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ได้
โดยมีถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดที่อาจเกิดภาวะนี้
นอกจากนี้ยังเกิดได้กับทั้งคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรง
ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าป่วยไม่รุนแรง ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย แต่เน้นย้ำว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกความรุนแรงเกิดได้หมด
เชื่อกันว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิด Long COVID เพราะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวในระบบต่างๆ ของร่างกาย หรืออาจเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (autoantibody)
Long COVID ในปัจจุบันมองว่าเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ถึง 200 อาการ เกิดได้ทั้งในระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ส่งผลทั้งต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานของผู้ป่วย และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมได้