สถานการณ์โควิดล่าสุด โอมิครอนยึดครองไทยแล้ว 97.2%

16 ก.พ. 2565 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2565 | 07:25 น.

ยอดโควิดวันนี้ไทยล่าสุดโอมิครอนยึดครองไทยแล้ว 97.2% หมอเฉลิมชัยเผยเหลือเดลตาเพียง 2.8% และไม่พบอัลฟา กับ เบต้า แล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ล่าสุด Omicron (โอมิครอน)เป็นสายพันธุ์หลักเกือบทั้งหมดของไทย พบมากถึง 97.2% เหลือ Delta เพียง 2.8% และไม่พบ Alpha และ Beta แล้ว

 

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทย มีการรายงานผู้ติดเชื้อไวรัส Omicron เป็นเคสแรก เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 โดยเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

 

ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เราพบผู้ติดเชื้อเป็นเดลต้ามากถึงกว่า 90%  โดยมีอัลฟ่าเป็นส่วนน้อย

 

จากข้อมูลเบื้องต้นในขณะนั้น ได้มีการคาดการณ์ว่า Omicron จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยภายในเวลาเพียง 1-3 เดือน เนื่องจากความสามารถของการกลายพันธุ์

ขณะนี้การคาดการณ์ดังกล่าว เป็นความจริงเรียบร้อยแล้ว

 

จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างโดยการถอดรหัสจีโนมเพื่อหาชนิดสายพันธุ์ ในช่วงวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2565

 

พบ Omicron มากถึง 97.2% โดยในกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบ 99%  ส่วนการติดเชื้อภายในประเทศกันเองพบ 96%

 

ในขณะที่ไวรัส Delta ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลัก กลับพบเหลือเพียง 2.8%  และตรวจไม่พบไวรัสสายพันธุ์ Alpha และ Beta แล้ว

 

โดยที่ Omicron มีแยกเป็น 3 สายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ย่อยที่เป็นหลักในขณะนี้คือสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1)

 

แต่จากการสุ่มในบางพื้นที่ของประเทศไทย พบสายพันธุ์ย่อยที่สอง(BA.2) ขยับขึ้นมาเป็น 18% แล้ว
 

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของบางประเทศ ที่พบสายพันธุ์ย่อยที่สองมากขึ้น จากความสามารถในการติดเชื้อที่เก่งกว่าสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง จนมีการแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 57 ประเทศทั่วโลก

 

ทำให้โควิด-19 (Covid-19) ของประเทศไทยเรา พอจะสรุปได้ดังนี้

 

  • ไวรัสสายพันธุ์หลักคือ Omicron พบมากถึง 97.2%

 

  • เหลือไวรัส Delta เพียง 2.8% และคาดว่าจะหายไปทั้งหมดในอนาคตอันใกล้

 

  • ไม่พบสายพันธุ์ Alpha และ Beta แล้ว

 

  • Omicron สายพันธุ์ย่อยที่สอง กำลังเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (18%) และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจนแซงสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งได้

 

  • การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อการกำหนดมาตรการ และการขอความร่วมมือประชาชน ในการควบคุมโรคระบาดโควิด ตลอดจนการฉีดวัคซีน จึงต้องใช้ข้อมูลจากไวรัส Omicron เพียงสายพันธุ์เดียวเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องให้น้ำหนักการพิจารณาไวรัสสายพันธุ์อื่นอีกต่อไป