น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
โควิดจากไวรัสโอมิครอน (Omicron) ใช้เตียงหลักไปแล้ว 88% ใช้เตียงผู้ป่วยอาการหนักเพียง 14% และเตียงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 17%
สถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเกิดจากไวรัสโอมิครอน ได้ก่อผลกระทบอย่างกว้างขวางกับทุกประเทศทั่วโลก
โดยมีอัตราการติดเชื้อทั่วโลกสูงกว่าสายพันธุ์เดลตา 4-6 เท่า จึงมีผู้ติดเชื้อขึ้นสู่พีคหรือจุดสูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่าสายพันธุ์เดลตาหลายเท่าตัว
สหรัฐอเมริกาเคยติดเชื้อถึงวันละ 1,000,000 คน อังกฤษและฝรั่งเศสติดเชื้อวันละ 1-300,000 คน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ติดเชื้อวันละ 100,000 คน เป็นต้น
ส่วนของประเทศไทย ก็มีผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุดเมื่อวานนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรวมจาก PCR+ATK 33,893 ราย ถ้านับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ยืนยันด้วย PCR จะอยู่ที่ตัวเลข 18,883 ราย
เปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อสูงสุดในระลอกที่สามจากไวรัสเดลตา ที่จำนวน 23,418 ราย
สิ่งที่หลายฝ่ายอยากทราบและมีความเป็นห่วงกังวลคือ แม้โอมิครอนจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าไวรัสเดลตาหลายเท่าตัว
แต่ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อมีมาก ก็อาจจะส่งผลกระทบถึงความสามารถของระบบสาธารณสุขไทยได้
ผู้เขียนจึงได้รวบรวมสถิติการใช้เตียงสูงสุดของผู้ติดเชื้อไวรัสเดลตาของโรงพยาบาลในลักษณะต่างๆของระลอกที่สาม เปรียบเทียบกับระลอกที่สี่ในปัจจุบันที่เกิดจากโอมิครอน จะพบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระบบการดูแลรักษา
ระลอกที่สาม 214,421 ราย
ระลอกที่สี่ 166,397 ราย
คิดเป็น 78%
ผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลหลัก
ระลอกที่สาม 87,150 ราย
ระลอกที่สี่ 77,071 ราย
คิดเป็น 88%
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม
ระลอกที่สาม 79,144 ราย
ระลอกที่สี่ 49,374 ราย
คิดเป็น 62%
แยกกักที่บ้านหรือในชุมชน (HI/CI)
ระลอกที่สาม 80,248 ราย
ระลอกที่สี่ 38,931 ราย
คิดเป็น 49%
ผู้ป่วยอาการหนัก
ระลอกที่สาม 5626 ราย
ระลอกที่สี่ 796 ราย
คิดเป็น 14%
ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ
ระลอกที่สาม 1172 ราย
ระลอกที่สี่ 202 ราย
คิดเป็นร้ อยละ 17
จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน (ซึ่งยังไม่ถึงจุดสูงสุด) ได้เข้ารับการดูแลในระบบสาธารณสุขไทยมากถึง 78% เมื่อเทียบกับระลอกที่แล้ว
และในโรงพยาบาลหลัก มีผู้เข้าไปรับการดูแลหรือครองเตียงมากถึง 88%
โดยที่ส่วนใหญ่แล้ว มีอาการไม่รุนแรงมากนัก จะเห็นได้จากผู้ป่วยอาการหนักมีเพียง 14% และผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีเพียง 17%
ดังนั้นการรับมือกับผู้ติดเชื้อในระลอกที่สี่หรือโอมิครอน จำเป็นที่จะต้องขยายเตียงโรงพยาบาลสนามและขยายจำนวนการแยกกักที่บ้านอย่างมีระบบ และต้องทำให้การบริหารจัดการราบรื่นไปพร้อมกัน
จะส่งผลทำให้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องนอนในโรงพยาบาลหลัก สามารถขยับมาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม และแยกกักที่บ้านได้
ทำให้โรงพยาบาลหลัก เหลือเตียงสำรองไว้รับผู้ป่วยอาการปานกลางและหนักได้อย่างเพียงพอ
ส่วนผู้ป่วยอาการหนักนั้น ยังพอจะมีเตียงรองรับได้เป็นจำนวนมากพอสมควร
โอกาสที่จะเกิดวิกฤติของผู้ป่วยอาการปานกลางและหนักหาเตียงโรงพยาบาลหลักไม่ได้ ก็จะไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐ ในการรณรงค์ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปด้วย ที่จะเข้ารับการดูแลรักษาในระบบสุขภาพ ตามความเหมาะสมของระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ