พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (วันที่ 21 ก.พ. 65) ว่า ศักยภาพเตียงใน กทม. ที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลทั้งหมด 226 แห่ง มีเตียงรองรับทั้งหมด 44,345 เตียง แบ่งตามกลุ่มได้แก่ โรงพยาบาลหลัก 48 แห่ง 4,673 เตียง โรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง 2,941 เตียง และ Hospitel 161 แห่ง 36,731 เตียง (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 17 ก.พ. 65 เวลา 20.00 น.)
ส่วนของอัตราการครองเตียงที่อยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ กทม. มีจำนวนทั้งหมด 3,460 เตียง ครองเตียง 2,976 เตียง (86.01%) เตียงว่าง 484 เตียง (13.99%) โดยศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) มีจำนวน 31 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,981 เตียง โดยมีอัตราการครองเตียง 1,716 ราย (43.10%) คงเหลือ 2,065 เตียง แบ่งออกเป็น ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการและมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 19 แห่ง 2,858 เตียง ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการแต่ยังไม่มีผู้ป่วย จำนวน 7 แห่ง 648 เตียง และศูนย์พักคอยที่พร้อมเปิดดำเนินการ (standby mode) จำนวน 5 แห่ง 475 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.พ. 65 เวลา 08.00 น.)
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม. ได้เตรียมพร้อมศักยภาพการขยายเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว ขอให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI First) จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล และสำรองเตียงให้กับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดง รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไปและโรคอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้มอบหมายสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากติดเชื้อโควิด-19 และเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI ก็จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดี โดยมีการติดตามประเมินอาการจากแพทย์ทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ