กลุ่มประมงท้องถิ่นได้เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินชดเชยจากบริษัท SPRC ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจา
ภายหลัง SPRC ได้รวบรวมคำร้องเรียนจากกลุ่มประมงท้องถิ่น หลังเปิดโอกาสให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีเป้าหมายคือ การดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น SPRC จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วใน 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มอาชีพอื่นๆ และกลุ่มประมงท้องถิ่น
สำหรับกลุ่มแรก กลุ่มอาชีพอื่นๆ หมายถึงผู้ได้รับผลกระทบที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ไม่ใช่อาชีพประมงหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 26 และ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
ขณะที่กลุ่มประมงท้องถิ่น ได้แจ้งกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนว่า จะมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 45,000 บาท ต่อเรือประมง 1 ลำ โดยไม่มีข้อผูกพันให้แก่กลุ่มประมงท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ
SPRC เริ่มดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เจ้าของเรือประมงในเกาะเสม็ดที่ได้ทำการลงทะเบียนและได้รับสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือ ณ โรงเรียนเกาะแก้วพิสดาร เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 สำหรับกลุ่มประมงท้องถิ่นส่วนที่เหลือจะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
โดย SPRC จะติดต่อไปยังเจ้าของเรือที่มีสิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือ เพื่อแจ้งวันและสถานที่สำหรับการเข้ามารับเงินช่วยเหลือ
จากจุดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อชาวระยองและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการเองระบุว่า จากนี้จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กับชาวระยอง รวมถึงเดินหน้าศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มประมงท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบมีราวๆ 40 กว่ากลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยและยอมรับการช่วยเหลือจาก SPRC แต่มีเพียงบางกลุ่มซึ่งอยู่ไกลจากพื้นที่เกิดเหตุราวๆ 15 กิโลเมตร และเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นใหม่ได้ไม่นาน กลับแสดงความไม่พอใจกับผลการเจรจา
โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีตัวแทนบางกลุ่มได้นำชาวประมงประมาณ 50 คน เดินทางมารวมตัวกันที่หน้าบริษัท SPRC โดยเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน พร้อมกับระบุว่า หาก SPRC ไม่รับข้อเสนอ จะมีการยกระดับในการเรียกร้องต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการนำเรือประมงท้องถิ่นหลายสิบลำมาลอยลำหน้าบริเวณสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์ ในการขอความชัดเจนเรื่องเงินเยียวยาช่วยเหลือตามที่ได้ยื่นข้อเสนอไปอีกด้วย
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า กรณีที่กลุ่มประมงท้องถิ่นเพียงส่วนน้อยแสดงความไม่พอใจกับผลการเจรจา และเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนมาก มีกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังหรือไม่
เนื่องจากปรากฎภาพชัดเจนว่า เรือประมงท้องถิ่นที่มาลอยลำหน้าบริเวณสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์นั้น หลายคนสวมเสื้อของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ปรากฏโลโก้ของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน
กรณีที่เกิดขึ้นนั้น ชาวประมงท้องถิ่นส่วนใหญ่เข้าใจ และแยกแยะออกว่า กลุ่มใดเป็นประมงท้องถิ่นตัวจริง
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก
ขณะที่ไทยต้องสร้างภาพลักษณ์การลงทุนในสายตาของทั่วโลกให้เกิดความเชื่อมั่นทุกด้าน เป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อผลกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ