5 มีนา วันนักข่าว ยุคสมัยหนึ่ง เคยเป็นวันหยุดของนักหนังสือพิมพ์

04 มี.ค. 2565 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 21:55 น.

เปิดประวัติ วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันนักข่าว” และ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” เชื่อหรือไม่ ยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นวันหยุดงานของนักหนังสือพิมพ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันนักข่าว” และยังเป็น “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคือ "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย"

 

โดยประวัติความเป็นมานั้น ต้องย้อนไปในยุค “สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ

  1. โชติ มณีน้อย
  2. เท่ห์ จงคดีกิจ
  3. ประจวบ อัมพะเสวต
  4. วิเชียร โรจนวงศานนท์
  5. ถาวร มุ่งการดี
  6. สนิท เอกชัย
  7. เชาว์ รูปเทวินทร์
  8. จรัญ โยบรรยงค์
  9. กุศล ประสาร
  10. ชลอ อาภาสัตย์
  11. อนงค์ เมษประสาท
  12. วิสัย สุวรรณผาติ
  13. นพพร ตุงคะรักษ์
  14. วิภา สุขกิจ
  15. เลิศ อัศเวศน์

 

ทั้ง 15 คน นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

 

โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย 

 

แต่แล้วก็มีหนังสือพิมพ์บางฉบับแอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

 

จากนั้น สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว 

5 มีนา วันนักข่าว ยุคสมัยหนึ่ง เคยเป็นวันหยุดของนักหนังสือพิมพ์

แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนสามเสน ตรงข้ามรพ.วชิระ
ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน

 

นายอิศรา อมันตกุล” นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก จากนั้นจึงมีการตั้งรางวัลประกวดข่าวและภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า “รางวัลอิศรา อมันตกุลกัน” เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศของคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งมอบให้กับผลงานข่าวและผลงานภาพข่าวยอดเยี่ยมของหนังสือพิมพ์ในแต่ละรอบปี 

 

โดยมูลนิธิอิศรา อันตกุล ได้กำหนดรางวัลอิศรา อมันตกุล ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่นายอิศรา อมันตกุล อดีตนักหนังสือพิมพ์และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกผู้ล่วงลับ

 

ข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยระบุว่า “อิศรา อมันตกุล” เปรียบเสมือนสัญญลักษณ์ของนักหนังสือพิมพ์ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ดำรงตนอยู่ภายใต้อาชีวปฏิญานและมุ่งมั่นในการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ ดังคำกล่าวที่นางเสริมศรี เอกชัย อดีตนักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา “สนทะเล” และอดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ว่า

ประวัติ นายอิศรา อมันตกุล

“อิศรา อมันตกุล เป็นอะไรอีกหลายอย่าง แต่แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นเพียงอย่างเดียวคือเป็น “ตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุด” ของคนหนังสือพิมพ์ เป็นเบ้าหลอมแท่งคอนกรีตอันใช้ปูทางเดินไปสู่เกียรติศักดิ์ของคนหนังสือพิมพ์”

 

มูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงานด้านการจัดประกวดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515  ซึ่งผลงานข่าวและภาพข่าวชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล คือ ผลงานข่าว “ขังลืม เวล บุกรุก” ของนายน้อย ทรัพย์พอกพูน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

 

และผลงานภาพข่าว “ปฏิบัติการจองเวร” ของนายประสงค์ แฟงเอม ช่างภาพหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมและภาพข่าวยอดเยี่ยมตามลำดับ 

 

หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดการประกวดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่ 50 (พ.ศ. 2565) ของการจัดการประกวด โดยคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลมาจากทั้งนักหนังสือพิมพ์อาวุโส,ช่างภาพ,ผู้แทนมูลนิอิศรา อมันตกุลและนักวิชาการ

 

โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แก้ระเบียบในการประกวดข่าวและภาพข่าว เปิดให้สื่อออนไลน์ได้ร่วมส่งเข้าประกวดด้วย เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์ส่งข่าวและภาพเข้าประกวดลดลงอย่างมาก ตามยุคสมัย 

 

จะมีพิธีประกาศผลและมอบรางวัลผลการประกวดข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ และภาพข่าวยอดเยี่ยมจากสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์  รางวัลอิศรา อมันตกุล และรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น  ในวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น.  ณ  ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) สามารถติดตามการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

5 มีนา วันนักข่าว ยุคสมัยหนึ่ง เคยเป็นวันหยุดของนักหนังสือพิมพ์

ขณะเดียวกันจะมีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์สี จิ้น ผิง เขย่าโลก:ไทยจะอยู่อย่างไร?” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย  ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(APRC) และกรรมการการประชุมโบอ่าวแห่งเอเชีย (Boao Forum for Asia) 

 

ที่มาข้อมูล