16 ปรากฏการณ์ "คดีแตงโม" ถอดบทเรียน และ อิทธิพลทางสังคม

06 มี.ค. 2565 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2565 | 14:41 น.

ข่าวแตงโม และ ความคืบหน้า คดีแตงโม - นิดา หลายปรากฏการณ์ทางสังคม ถอดความคิด เปิดความเห็น แบบฉบับ 'หมอโอ๋' กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น สาเหตุการตายปริศนา ดราม่ารายวัน จากคนเสพข่าว สู่ นักสืบโคนัน 16 บทเรียน ที่ฝากทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย

6 มีนาคม 2565 - นับตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเกิดเหตุนางเอกสาว แตงโม นิดา หรือ แตงโม ภัทรธิดา พลัดตกเรือสปีดโบ้ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนนำมาสู่การสืบเสาะหาความจริงถึงสาเหตุการเสียชีวิต  มาถึงวันนี้ ความคืบหน้าคดีแตงโม ยังคงเกิดขึ้นรายวัน ในหลายแง่มุม ขณะเดียวกัน คดีนี้เป็นอีกเครื่องย้ำเตือน ถึงความสัมพันธ์ของเพื่อน ครอบครัว การทำงานหน้าที่ของสื่อ และอิทธพลของโลกโซเซียลไว้อย่างน่าสนใจ

ในมุมของ นางสาว จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์การเสียชีวิตของแตงโม ว่า ข่าวแตงโมเสียชีวิต กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทย เพราะได้สร้างความสงสัย กับอะไรหลายอย่างที่ดูไม่ตรงไปตรงมาในขณะเดียวกัน โลกโซเชียลก็ตอบสนองเรื่องนี้กันอย่างเป็นปรากฏการณ์ ตั้งแต่กลายร่างเป็นนักสืบโคนัน ยันไปถึงเป็นผู้พิพากษา  อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันดังนี้ 
 

16 ปรากฏการณ์ "คดีแตงโม"

 

  • วิธีคิดแบบต้อง “หาคนผิด” มาลงโทษ เป็นวิธีคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้หลายครั้ง เราตั้ง “ศาลเตี้ย” ขึ้นมาแบบที่เราเข้าใจไปว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง

 

  • ตราบใดที่ยังไม่มีข้อสรุปทางกฏหมาย เราไม่ควรชี้นำหรือสรุปว่าใครเป็นผู้กระทำผิด เพราะสิ่งเหล่านี้สร้างตราบาปให้กับชีวิตของคนบางคน มากเกินไปกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้รับ

 

  • การสื่อสารที่แค่การต้องหาคนผิดมาลงโทษ อาจทำให้เราหลงลืมสื่อสารประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น อุบัติเหตุทางน้ำป้องกันได้อย่างไร การช่วยคนตกน้ำควรช่วยเหลือแบบไหน (ที่ไม่ใช่การกระโดดลงไปในทันที) ฯลฯ เรื่องนี้มีอีกหลายๆ ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม

 

  • คนที่พูดหรือทำบางอย่างที่เราไม่ถูกใจ ไม่ได้แปลไปว่าเขาจะต้องเป็นคนที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนพูดดี ทำไม่ดีมีเยอะแยะ เราควรแยกประเด็น ที่เราจะได้แสดงความเห็นแบบไม่เหมารวม

 

  • สื่อควรมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว สื่อมีหน้าที่ที่ต้องให้ความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต รวมไปถึง การให้ความยุติธรรมกับ “ผู้ยังมีชีวิต” อยู่ 

 

  • การขายข่าวอย่างบ้าคลั่ง นำทุกเรื่องราวมาสร้างประเด็นดราม่า ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้  เช่น การนำความเห็นของคนที่ติดต่อกับวิญญาณ มาเล่าว่าวิญญาณทุกข์ทรมานแค่ไหน ควรนึกถึง “ใจ” ของครอบครัวที่เป็น “ผู้สูญเสีย”

 

  • ในยุคที่ใครก็มีสื่อในมือ ใครก็แสดงความเห็นอย่างไรก็ได้ “สื่อน้ำดี” จะมีหน้าที่เลือกนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ด้วยหัวใจที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

 

  • สิ่งที่เราแชร์กันในโลกออนไลน์ ข้อมูลส่วนใหญ่ คือ “ความคิดเห็น” ข้อคิดเห็นเหล่านั้น หลายครั้งมันมาจาก “อารมณ์ร่วม” ไม่ใช่ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ไม่ใช่ความคิดเห็นจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้ การมี critical thinking ในการเสพรับสื่อ จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ 

16 ปรากฏการณ์ \"คดีแตงโม\" ถอดบทเรียน และ อิทธิพลทางสังคม

  • “digital empathy” การเข้าใจหัวใจคนอื่นในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่สังคมควรช่วยกันสร้าง เราทำร้ายเหยื่ออย่างบอบช้ำ แล้วสะบัดก้นไปรุมเหยื่อรายใหม่ จนกลายเป็นความธรรมดาของสังคมจนน่ากลัว 

 

  • ถามตัวเองทุกครั้ง ก่อนจะพิมพ์อะไร ว่าสิ่งที่เราพิมพ์ลงไป มันเป็นข้อเท็จจริงมั้ย? มันเกิดประโยชน์อะไร? หรือมันกำลังทำร้ายใคร? จากสิ่งที่เรากำลังพิมพ์ลงไปอยู่หรือเปล่า

 

  • การที่โลกออนไลน์ต้องลุกมาตื่นตัวกับการสืบสาวเรื่องราวต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นจากการที่เราไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่หลายครั้งเงินเปลี่ยนผิดเป็นถูกได้ ช่วยนำความสงสัยในกระบวนการเหล่านี้ เผื่อแผ่ไปยังความอยุติธรรมอีกหลายคดี ที่คนอื่นกำลังได้รับ

 

  • ทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่า ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของดารา หรือคนมีชื่อเสียง (ระหว่างนี้มีคุณป้าคนกวาดถนนถูกรถชนตาย… ที่ทุกอย่างกลับกลายเป็นความเงียบงัน)

 

  • มีข่าวอีกมากมายที่เราควรมีพื้นที่ให้ และควรได้รับความสนใจในช่วงนี้ ทั้งข่าวสงคราม ม็อบชาวนา ราคาน้ำมัน ไฟไหม้ป่าเชียงใหม่ ฯลฯ สังคมจะขับเคลื่อนได้ ด้วยพลังทางสังคมที่สร้างสรรค์

 

  • เรื่องคุณแตงโม ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เพื่อนที่ดีคือสิ่งมีค่า และบางครั้งโชคชะตาก็เล่นตลกกับชีวิตเราเสมอ (วันที่เลวร้ายจนไม่อยากอยู่ โชคชะตาก็ไม่อนุญาตให้ไป วันหนึ่งที่โลกสดใส อยากมีชีวิตต่อ โชคชะตาก็บอกเราว่า “พอได้แล้ว” ) ใช้ชีวิตอย่างขอบคุณคนรอบข้าง และเห็นคุณค่าของปัจจุบันขณะเสมอ

 

  • หลายครั้ง พ่อแม่ไม่ใช่พระอรหันต์ พ่อแม่คือมนุษย์ ที่มีดี มีไม่ดี มีถูก มีผิด มีรัก โลภ โกรธ หลง  เป็นธรรมดา ดังนั้นอย่าตัดสิน หรือกดทับใครด้วยคำว่า อกตัญญู ถ้าเราไม่รู้สิ่งที่เป็นไปในชีวิตของเขา 

 

  • คนที่ติดตามข่าว ควรหาเวลาพักสายตา พักใจ เพื่อสุขภาพจิต สุขภาพกายของเราเอง ขอให้เสพข่าว และเป็นผู้สื่อข่าว กันอย่างมีสติ และมีใจ คิดถึงว่าใครคนนั้น สักวันอาจเป็นเรา