โอมิครอน BA.2 ครองไทย พบเกิน 51% แพร่เร็วกว่าเดิม 1.4 เท่า

07 มี.ค. 2565 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 15:04 น.

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย โอมิครอน BA.2 ครองไทยแล้วพบมีสัดส่วนเกิน 51% แพร่เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ความรุนแรงไม่แตกต่างกัน แจง ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นไปตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

7 มีนาคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทยว่า สายพันธุ์โอมิครอนครองโลกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจากข้อมูลใน GISAID ยังเป็น BA.1 มากที่สุด 8.5 แสนกว่าราย สายพันธุ์ย่อย BA.1.1 เจอ 6.4 แสนกว่าราย BA.2 ราว 1.85 แสนราย

 

สำหรับประเทศไทยจากการตรวจเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 26 ก.พ. - 4 มี.ค.65 จำนวน 1,905 ราย พบ เดลตาเหลือเพียง 7 ราย ที่เหลือเป็น โอมิครอน ทั้งหมด คือ 99.63% เมื่อเทียบรายสัปดาห์แต่ละสัปดาห์ก็พบเพิ่มขึ้นจนเกือบ 100%

 

ส่วนสัดส่วนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 นั้น จากการตรวจแยกสายพันธุ์ย่อย 1,802 ตัวอย่าง พบเป็น BA.2 เกินครึ่งหนึ่ง คือ 51.8% แสดงว่า BA.2 มีอิทธิฤทธิ์การแพร่เร็วกว่า BA.1 ซึ่งสัปดาห์ถัดไปอาจจะพบสูงขึ้นกว่านี้ และจะมาแทน BA.1 ยกเว้นมีสายพันธุ์อื่น เช่น สายพันธุ์ BA.1.1 ที่หากแพร่เร็วกว่าก็อาจแซงกลับมาได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อแยกการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเป็นกลุ่มต่าง ๆ พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมประเทศพบ BA.2 ประมาณ 49.08% คลัสเตอร์ใหม่เป็น BA.2 ประมาณ 50% กลุ่มที่อาการรุนแรง เสียชีวิต เป็น BA.2 ราว 30.99% บุคลากรทางการแพทย์เป็น BA.2 ประมาณ 52.94% และผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนหรือติดเชื้อซ้ำเป็น BA.2 อยู่ที่ 28.57% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเดลตาเดิม

 

พิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่เคยติดเชื้อแล้ว มีภูมิโดยธรรมชาติแล้วจึงใช้ไม่ได้ โดยหลักการถ้าเคยติดเดลตาและเดลตาระบาดอยู่ เราก็จะไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่พอตัวใหม่ที่หลบภูมิที่เราสร้างมา เช่น โอมิครอนที่หลบภูมิได้ แม้มีภูมิต่อเดลตาก็จัดการโอมิครอนไม่ได้ แต่หากติดโอมิครอนและโอมิครอนระบาดอยู่ก็อาจช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง

โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 มีข้อมูลสนับสนุนว่า แพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า การแพร่กระจายในครัวเรือน BA.1 อยู่ที่ 29% ส่วน BA.2 อยู่ที่ 39% หรือแพร่กระจายในครัวเรือนสูงกว่า 10% แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่า เรื่องความรุนแรงยังไม่แตกต่างอะไรกัน ดังนั้น ต้องเข้มงวดเฝ้าระวังการรับและแพร่เชื้อ ส่วนการดื้อต่อวัคซีนนั้น ภูมิคุ้มกันที่โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 มีข้อมูลสนับสนุนว่า แพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า การแพร่กระจายในครัวเรือน BA.1 อยู่ที่ 29%

 

ส่วน BA.2 อยู่ที่ 39% หรือแพร่กระจายในครัวเรือนสูงกว่า 10% แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่า เรื่องความรุนแรงยังไม่แตกต่างอะไรกัน ดังนั้น ต้องเข้มงวดเฝ้าระวังการรับและแพร่เชื้อ

 

ส่วนการดื้อต่อวัคซีนนั้น ภูมิคุ้มกันที่จัดการเดลตาได้ สามารถจัดการโอมิครอนได้ลดลง เมื่อแยกเป็น BA.1 และ BA.2 พบว่า ไม่ต่างกันมาก BA.2 ดื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแบบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นพ.ศุภกิจกล่าว

 

สิ่งสำคัญที่พบ คือ การใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี ภูมิคุ้มกันที่สังเคราะห์ขึ้นมาใช้รักษาและมีราคาแพงนั้น จากที่เคยใช้รักษาเดลตาและ BA.1 ได้ ไม่สามารถรักษา BA.2 ได้ หรือช่วยจัดการเชื้อไม่ค่อยได้ ซึ่ง BA.2 หลบหลีกโมโนโคลนอลแอนติบอดีได้พอสมควร แต่ปกติเราไม่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากโอมิครอนไม่ค่อยรุนแรง คนที่จะต้องใช้ขนาดโมโนโคลนอล แอนติบอดี ก็มีไม่มาก จึงไม่กระทบเรื่องขีดความสามารถการรักษา ส่วนยาตัวอื่นยังไม่มีผลอะไร การรักษาอย่างอื่นก็เหมือนเดิม
 

ถามว่ากรณีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งที่โอมิครอนไม่รุนแรง นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในช่วงเดลตาสมัยก่อนเราติด 2-3 หมื่นราย มีการเสียชีวิตหลายร้อยราย ส่วนตอนนี้ติดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่การเสียชีวิตอยู่ที่ 50 กว่าราย ดังนั้น ตัวเลขที่สูงขึ้นคือการสูงขึ้นตามจำนวนการติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็มีคนมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และคนเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีโรคประจำตัว ติดเตียง เป็นต้น ถ้าเราช่วยกันลดความเสี่ยงกลุ่มนี้ไป ตัวเลขติดเชื้อเสียชีวิตก็จะต่ำลงกว่านี้อีก จึงต้องช่วยกันมาฉีดวัคซีนให้มีภูมิสูงมากพอ