โควิดโอมิครอน BA.2.2 คืออะไร แรง-แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นแค่ไหน

15 มี.ค. 2565 | 02:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 10:23 น.

มีความกังวลเกี่ยวกับ โควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.2 สายพันธุ์ใหม่จากฮ่องกง หลังล่าสุดพบ 4 รายในไทยเข้าข่ายติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2 ต่อไปนี้คือเรื่องของสายพันธุ์นี้ที่คนไทยควรรู้

โควิดสายพันธุ์ใหม่ "BA.2.2" ซึ่งระบาดในหลายประเทศ/ดินแดน รวมถึงฮ่องกงในช่วงนี้ ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวล หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบ 4 รายในไทยเข้าข่ายติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวส่งเข้าระบบ GISAID สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่างที่ผ่านมานั้น พบว่า มี 4 รายที่มีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย

เรื่องเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ BA.2.2

วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลีเมลของอังกฤษรายงานว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในฮ่องกงและกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ BA.2.2 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างมาก และขณะนี้ได้มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ BA.2.2 ในออสเตรเลียแล้ว

ฮ่องกงได้รับผลกระทบจากไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.2 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. ปีนี้ โดยทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเพียง 224 ราย เป็น 2,287 รายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ข้อมูลจาก GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลเชื้อก่อโรคโควิด-19 ของโลก พบว่า ณ วันที่ 13 มี.ค.2565 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักทั่วโลก ส่วน BA.2 ขณะนี้มีรายงานสายพันธุ์ย่อยแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ

  • BA.2.1 จำนวน 532 ราย
  • BA.2.2 จำนวน 68 ราย
  • BA.2.3 จำนวน 1,938 ราย

 

BA.2.2 แรงกว่า-แพร่เร็วกว่าพันธุ์อื่นแค่ไหน 4 ข้อที่ต้องประเมิน

  1. ความสามารถในการแพร่ (transmission) จากข้อมูลทางระบาดวิทยาไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น
  2. ความรุนแรงของโรค ไม่มีข้อมูลว่าอัตราป่วยและอัตราเสียชีวิตสูงกว่าพันธุ์อื่น ๆ ไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยามาสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนที่มีการกลายพันธ์ สไปก์โปรตีน I1221T มีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ
  3. ผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลว่ามีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือหลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ
  4. ระยะฟักตัวและระยะเวลากักตัว เนื่องจากไม่มีข้อมูลแต่การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัวหรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้

 

โอมิครอน BA.2.2 ซึ่งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ทำให้เพิ่มพยาธิสภาพในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง และอะไรที่จะอธิบายว่าทำลายอวัยวะของร่างกาย เเละสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล

 

ข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า 

  1. BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส ในเบื้องต้นทราบแล้วว่า BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ "S:I1221T" และ "ORf1a: T4087I" (ภาพ 1)
  2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่
  3.  BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่
  4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่
  5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ 
  6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก (ภาพที่ 7)

ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามผู้ป่วย BA 2.2 ในฮ่องกงพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนการเพิ่มจำนวนขึ้นของ BA 2.2 ในสหราชอาณาจักรอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.2.2 ได้

ที่มา : Center for Medical Genomics