พยากรณ์อากาศวันนี้ “ฟ้าหลัว” คืออะไร ทำไมชอบมีในตอนกลางวัน

20 มี.ค. 2565 | 17:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2565 | 06:29 น.

ช่วงนี้ฟังพยากรณ์อากาศมักจะได้ยินคำว่า “มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน” ฟ้าหลัวเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงชอบมีในตอนกลางวัน คำตอบมีอยู่ตรงนี้แล้ว

ฟ้าหลัว ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า haze นั้น ราชบัณฑิตยสภาระบุว่า คำนี้น่าจะเป็นคำที่กร่อนมาจากคำว่า “ฟ้าสลัว” จากความหมายของ “สลัว” คือ ความไม่แจ่มใส ไม่กระจ่าง ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของสภาวะฟ้าหลัว

 

ลักษณะอากาศแบบ ฟ้าหลัว เกิดจากการที่อากาศมีอนุภาคเล็กๆ เช่นอนุภาคของเกลือจากทะเลหรือมหาสมุทร อนุภาคของควันไฟ ตลอดจนฝุ่นละอองจำนวนมาก กระจายล่องลอยไป ทำให้เกิดเป็นฝ้าขาวหรือฝ้าขุ่นๆ ในอากาศ เวลาเกิดฟ้าหลัว เรายังคงเห็นแสงแดดอยู่รำไร ดังนั้น จึงเรียกปรากฏการณ์นี้อีกอย่างหนึ่งว่า หมอกแดด

 

หมอกแดด หรือ ฟ้าหลัว (haze) ที่ว่านี้แตกต่างจากหมอก (fog) เนื่องจากหมอกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็ก ๆในลักษณะเดียวกับการเกิดเมฆ เพียงแต่เมฆเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเนื่องจากการยกตัวของกลุ่มอากาศ แต่หมอกเกิดขึ้นจากความเย็นของพื้นผิว หรือการเพิ่มปริมาณไอน้ำในอากาศ

 

ขณะที่การเกิดของหมอกแดด หรือ ฟ้าหลัว นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบแน่นของไอน้ำ  แต่เกิดจากมวลอนุภาคขนาดเล็กที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น เกษรดอกไม้ ไอเกลือทะเล และเขม่าควัน ละอองอากาศเหล่านี้มีสถานะเป็นของแข็ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางแสง ทำให้มองเห็นเป็นฝ้าบางๆ คล้ายหมอกแต่มีสีคล้ำสกปรก

ฟ้าหลัว เรียกอีกอย่างว่า หมอกแดด มักเกิดขึ้นในหน้าร้อน หรือวันที่มีอากาศร้อน

บรรยากาศที่มีฟ้าหลัว มักจะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง มองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วฟ้าดูขุ่นๆ มัวๆ มองไม่เห็นอะไรบนฟ้ามากนัก อาจจะเหมือนมีฝ้าสีน้ำตาล จนไปถึงสีฟ้าขุ่นๆ ทั้งที่ก็ไม่ได้มีเมฆฝนหรือหมอกให้เห็น

 

หมอกแดด หรือ ฟ้าหลัว มักเกิดขึ้นในวันที่มีอุณหภูมิสูงและมีความกดอากาศต่ำ อากาศร้อนเหนือพื้นดินยกตัว พาให้ฝุ่นและอนุภาคบนพื้นดินลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ฝุ่นละอองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ทำให้แสงอาทิตย์ส่องสว่างไม่เต็มที่เนื่องจากมีอนุภาคฝุ่นในบรรยากาศเป็นอุปสรรคขวางกั้นทางเดินของแสง

 

ฟ้าหลัวจึงมักจะเกิดขึ้นในหน้าร้อน หรือเวลามีอากาศร้อนจัด เพราะธรรมชาติของอากาศร้อน อากาศจะขยายตัว และเมื่ออากาศขยายตัวก็จะเบาและลอยขึ้น เกิดเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ บวกกับธรรมชาติเมื่ออากาศร้อน ฝุ่นผงบนผิวดินก็จะแห้ง ไม่มีความชื้นมาทำให้จับเป็นก้อนหรือยึดติดกับพื้นผิวต่างๆไว้ ฝุ่นละอองเหล่านี้จะโดนอากาศร้อนหอบลอยขึ้นไปฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศจำนวนมาก และเมื่อฝุ่นจำนวนมากล่องลอยอยู่ในอากาศ ก็จะไปขัดขวางทัศนวิสัย ทำให้มองอะไรไม่ค่อยชัด เป็นฝ้าๆมัวๆ ที่เรียกว่า "ฟ้าหลัวในตอนกลางวัน” นั่นเอง  

ส่วนหน้าหนาวและหน้าฝน ไม่ค่อยมีปรากฏการณ์ “ฟ้าหลัว” เนื่องจากอากาศเย็นจะค่อนข้างหนัก ไม่ลอยขึ้นแบบอากาศร้อน ความกดอากาศสูง ซึ่งก็จะทำให้ฝุ่นละอองในอากาศร่วงลงสู่พื้น ไม่ค่อยล่องลอยอยู่ในอากาศมากนัก

 

คราวนี้เวลาได้ยินพยากรณ์อากาศว่า “มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน” ก็เตรียมใจได้เลยว่าจะต้องเจอกับอากาศร้อน และถ้าหากจะต้องถ่ายรูปก็คงได้ภาพท้องฟ้าที่ไม่ค่อยสวยสดใสสักเท่าไหร่