นายมาริษ กรัณยวัฒน์ แอดมินเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร และตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ หรือ ECST เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเพจได้โพสต์ถามความคิดเห็นของผู้บุหรี่ไฟฟ้าว่าเคยโดนเจ้าหน้าที่รัฐจับและปรับเพราะพกบุหรี่ไฟฟ้าบ้างหรือไม่ พร้อมข้อความ ไหนลองเล่าสิ ที่ไหน เท่าไหร่ ซึ่งมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาแชร์ประสบการณ์กว่า 490 ราย
และมีการแชร์โพสต์ออกไปกว่า 70 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เล่าให้ฟังว่าโดนจับและต้องจ่ายค่าปรับนอกระบบตั้งแต่ 2 พัน – 7 หมื่นบาทพร้อมยึดของกลาง บางรายต้องนอนโรงพัก 1 คืนและขึ้นศาล
ขณะที่บางรายถูกเพิ่มข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ส่วนบางรายต่อรองกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอแลกกับอิสรภาพและการไม่ต้องเป็นคดีความ
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้รายหลายยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ตำรวจเองก็ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันเต็มโรงพัก บางรายก็ว่าตำรวจจับแต่คนใช้
ส่วนคนวางขายอยู่เต็มตลาดกลับปล่อยให้ขายได้ เช่นความคิดเห็นหนึ่งระบุว่า เคยโดนเรียกค่าปรับ 1 หมื่นบาทแถวเทพารักษ์ เพราะวางไว้ตรงที่วางแก้วน้ำในรถ แล้วตำรวจส่องไฟเข้ามาเห็น เลยโดนให้จอดข้างทาง ค้นรถ แล้วยึดบุหรี่ไฟฟ้าไปด้วย อีกรายหนึ่งบอกว่า เคยโดนจับแต่รอดมาได้ เพราะแลกกับเอ็มร้อย 2 ขวด
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบ และเป็นการเอากฎหมายมาทำร้ายประชาชน ปัญหาผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติถูกรีดไถ เรียกรับเงินค่าปรับแบบไม่ถูกต้อง มีมานานแล้วและเกินกว่าเหตุไปมาก
ซึ่งต้นทางมาจากการห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าและข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับความผิดของผู้ใช้ เลยกลายเป็นการเปิดช่องให้ตำรวจทุจริตเรียกเงินจากผู้ใช้
ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกว่า 70 ประเทศกลับให้มีการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน พวกเราเห็นว่าประเทศไทยควรต้องปลดล็อกแบนบุหรี่ไฟฟ้า แล้วเอามาควบคุมให้ถูกกฎหมายแทน ผู้ใช้จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้
จึงขอเรียกร้องให้ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ได้ออกมาให้ความกระจ่างกับสังคมว่าการจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและการตั้งศาลเตี้ยแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ทำได้หรือไม่
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนกลุ่ม ECST กล่าวว่า จะนำข้อมูลนี้ส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน เกิดการทุจริตคอรัปชั่น รีดไถประชาชน จากมาตรการที่ล้มเหลวไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงเพราะไม่อาจต้านทานกระแสสังคมและข้อมูลจากต่างประเทศได้
และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ความเป็นธรรมให้มีการแก้ไขทบทวนประกาศห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามให้บริการและเปลี่ยนมาควบคุมให้ถูกต้องเช่นเดียวกับกัญชา กระท่อม ที่รัฐบาลได้ดำเนินไปก่อนหน้านี้
นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ อธิบายว่า การนำเข้าหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษสูงสุดถึงจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงมาก ผู้ใช้ที่ถูกจับจึงเลือกที่จะเจรจาจ่ายเงินสินบน เพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นศาล จึงยังไม่เคยมีคำตัดสินจากศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่ก็เคยมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องโดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ. ศุลกากรฉบับใหม่ ไม่ได้ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งของต้องห้าม ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิด เพราะกฎหมายระบุว่าห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า และห้ามให้บริการเท่านั้น