ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้รวมatk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1553 คน เป็น 1,808 คน เพิ่มขึ้น 16.41%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 583 คน เป็น 713 คน เพิ่มขึ้น 22.29%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 18.87% และลดลงกว่าสองสัปดาห์ก่อน 6.55%
บุคลากรทางการแพทย์ติดไปเพิ่มอีกถึง 363 คน จาก 22 จังหวัด
เยอะสุดคือ กทม. 86, ชลบุรี 37, ตรัง 25, ขอนแก่น 24, มหาสารคามและสมุทรปราการ 22
หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า
จบเสียทีกับเรื่องยาฆ่าพยาธิ
หลายเดือนที่ผ่านมา มีการปั่นกระแสข่าวทั่วโลกรวมถึงไทยเราด้วย ยุให้คนใช้ยาฆ่าพยาธิมารักษาโรคโควิด-19 (covid-19)
ล่าสุดวารสารทางการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine เผยแพร่ผลการวิจัย Randomized double-blind placebo-controlled trial เรื่องนี้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาฆ่าพยาธิ Ivermectin และยาหลอก ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ประเทศบราซิล
ผลการศึกษาพบว่า Ivermectin ไม่ได้ช่วยลดปริมาณไวรัส ไม่ได้ช่วยลดอัตราการนอนรพ. การใช้บริการห้องฉุกเฉิน หรืออาการรุนแรงใดๆ
ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อคำแนะนำยุยงให้ใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด-19
เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ...ทำในสิ่งที่ควรทำ
สถานการณ์การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รุนแรง กระจายทั่ว
ยืนยันว่ายากมากที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้
สำหรับคนที่ปกติดี การเตรียมอุปกรณ์จำเป็น หยูกยาพื้นฐาน และวางแผนจัดการตนเองหรือครอบครัวยามที่ฉุกเฉินเกิดปัญหาคนในบ้านติดเชื้อขึ้นมา และมีเบอร์ติดต่อ และหรือไลน์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่รู้จักเอาไว้ จะเป็นประโยชน์มากเวลาเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นมา และจะลดความเครียดกังวลไปได้ไม่มากก็น้อย
สถานการณ์ปัจจุบันคงเห็นแล้วว่า demand มากกว่า supply และนโยบายเกี่ยวกับการจัดระบบบริการดูแลผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวันนั้นยังมีปัญหามาก ทั้งเรื่องช่องทางการรับบริการ ยารวมถึงกระบวนการสนับสนุน
สถานพยาบาลจำนวนมากกำลังประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนเกิดติดเชื้อจำนวนไม่น้อยในแต่ละวันจากการปฏิบัติการหรือจากการใช้ชีวิตประจำวันส่วนตัวกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว จำเป็นต้องลดการบริการลง
สวนทางกับนโยบายเจอแจกจบที่อาจส่งผลให้ประชาชนต้องมารับบริการที่สถานพยาบาลมากขึ้น แทนที่จะเป็นบริการแบบทางไกล นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ ทั้งในเรื่องภาระงานต่อบุคลากรและสถานพยาบาล ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ รวมถึงภาระค่าใช้จ่าย เวลา และความลำบากในการเดินทางสำหรับประชาชน
คงจะเป็นประโยชน์ หากทางศบค.ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ พิจารณาให้มีการประเมินแบบ 360 องศาทุกมิติ เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายเจอแจกจบ มิใช่การประเมินความพึงพอใจในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยและระยะสั้นไม่กี่วัน