จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้รวมatk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1496 คน เป็น 1,727 คน เพิ่มขึ้น 15.41%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 562 คน เป็น 679 คน เพิ่มขึ้น 20.81%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 2.28% แต่มากกว่าสองสัปดาห์ก่อน 5.79%
ถือเป็นแนวโน้มของการติดเชื้อรายวันที่สูงกว่า 2 สัปดาห์ก่อน ติดต่อกันเป็นวันที่ 6
ป.ล.หากติดตาม ddc dashboard จะเห็นได้ว่าข้อมูลสำคัญหลายเรื่องไม่ถูกอัพเดต เช่น สถิติแนวโน้มตามกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
ระบบบริหารจัดการข้อมูลที่ดีควรทำให้ประชาชนในสังคมสามารถทราบรายละเอียดอย่างครบถ้วน โปร่งใส ไม่ปกปิด ตรวจสอบได้ และทันต่อสถานการณ์ เพื่อเสริมสร้างให้เกิด Health literate community
หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก
เราทราบกันชัดเจนว่าทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกอย่างรุนแรงที่สุดในรอบกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ดังที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไปแล้ว
เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปหลากหลายสายพันธุ์ และทำให้เกิดการระบาดหลายระลอก แต่ละระลอกมีความหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น สายพันธุ์จี อัลฟ่า เบต้า เดลตา และโอมิครอนในปัจจุบัน
แม้ปัจจุบันโอไมครอนจะดูรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เพราะลงปอดน้อยลง อยู่ในทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น แต่แลกมาด้วยสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อที่เร็วกว่าเดลต้าอย่างมาก จำนวนการติดเชื้อจึงมหาศาลทั่วโลก แม้ความรุนแรงเฉลี่ยจะน้อยลง แต่ก็ยังทำให้จำนวนจริงของการป่วยและการตายก็ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ดี
"โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาสำหรับทุกคน"
ประโยคข้างต้นมาจากข่าวที่มีครอบครัวสูญเสียเด็กเล็กจากการติดโควิด-19 มีไข้สูง และไปรักษาที่รพ.ได้เพียง 10 ชั่วโมงก่อนเสียชีวิต
สังคมควรตาสว่าง ไม่หลงเชื่อกับความเชื่องมงายหรือแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น "กระจอก เอาอยู่ ธรรมดา เพียงพอ" หรือแม้แต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจผิดว่า ติดๆ ไปเหอะ ไม่เป็นไรหรอก ติดๆ ไปเหอะจะได้มีภูมิ หรือติดหลายๆ ครั้ง อาการจะน้อยลง เพราะจะมีภูมิ เป็นกันเยอะๆ จะได้เป็นโรคประจำถิ่น
หากไม่รู้เท่าทัน ไม่ติด ไม่ป่วย ไม่ตาย ไม่สูญเสีย...จะไม่มีทางเข้าใจ
ย้ำอีกครั้งว่า Omicron แม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ติดง่าย ป่วยได้ ตายได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง นอกจากนี้แม้จะได้รับวัคซีนไปกี่เข็ม หรือไม่ได้รับก็ตาม ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เราทุกคนควรปฏิบัติ ต้องเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงลงได้ แต่ไม่ได้การันตี 100%
ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ หากไม่ป้องกันตัว ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถฟันธงว่าติดเชื้อซ้ำแล้วจะอาการน้อยลงเสมอไป เพราะสายพันธุ์ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา งานวิจัยหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก ฯลฯ ก็มีสะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงจากการติดเชื้อซ้ำอาจไม่ได้แตกต่างจากการติดเชื้อครั้งแรก
นอกจากนี้ความรู้เกี่ยวกับภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID ที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อนั้นมีชัดเจน ยิ่งติดเชื้อซ้ำก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้นได้ ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความประมาทในการใช้ชีวิต