โอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ BA.2 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19)สายพันธุ์โอมิครอน โดยมีการพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษจิกายน 2564 และมีการระบาดในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย เยอรมนี สวีเดน รวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
1 เมษายน 2565 ทะลุ 488 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,345,658 คน ตายเพิ่ม 3,698 คน รวมแล้วติดไปรวม 488,083,215 คน เสียชีวิตรวม 6,166,137 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 87.9% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 76.04%
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 35.75% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 30.44%
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก
เรื่องสำคัญเพื่อการวางแผนของประชาชนในเดือนหยุดยาว
"ระลอกโอมิครอน เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกเดลตา 10 เท่า"
นี่เป็นข้อมูลจากสหราชอาณาจักร Office for National Statistics ร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford และ Manchester, Wellcome Trust, และ UK HSA เพิ่งเผยแพร่ผลวิเคราะห์จากการสำรวจประชาชนล่าสุด เมื่อ 30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่เดินทางไปต่างประเทศจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนที่ไม่ได้เดินทาง
ส่วนคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ มากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนครบ
ผลการศึกษาของสหราชอาณาจักรย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า การระบาดของ Omicron ระลอกนี้มีการติดเชื้อซ้ำได้มาก
ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงทั้งเรื่องการติดเชื้อ การติดเชื้อซ้ำ การป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ยังจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
หากเดือนเมษายนเป็นเดือนแห่งเทศกาลปีใหม่ไทย มีวันหยุดยาว ขอให้ไตร่ตรองให้ดี การระบาดในไทยยังรุนแรง กระจายทั่ว ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
แต่ถ้าจำเป็นต้องไป ก็ควรเตรียมตัวป้องกันให้ดี ทั้งเรื่องอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากาก เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมถึงการตรวจ ATK ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดินทางกลับมา
โควิด-19 Omicron BA.2 ขณะนี้ ติดง่ายแพร่ไวกว่าเดิม 30% แม้ความรุนแรงจะไม่ต่างจาก BA.1 และน้อยกว่าเดลตา
แต่ตัวเลขที่เราเห็นกันแต่ละวันก็ชัดเจนว่า ติดเชื้อมาก ป่วยมาก และมีตายกันกว่า 80 คนต่อวัน จำนวนคนป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ติดเชื้อมาแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวคนที่ติดเชื้อ แต่ส่งผลต่อครอบครัว และคนใกล้ชิด
ติดเชื้อแล้ว ป่วยได้ ตายได้ แม้ได้รับวัคซีนมาก่อนก็ไม่ได้การันตี 100%
ติดเชื้อแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID ที่อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง ที่จะนำไปสู่ภาวะทุพลภาพได้
การป้องกันตนเองอย่างเป็นกิจวัตร ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท จะลดความเสี่ยงลงได้