ติดเชื้อโควิดวันนี้รวมatk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1619 คน เป็น 1,828 คน เพิ่มขึ้น 12.9%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 630 คน เป็น 712 คน เพิ่มขึ้น 13.01%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 3.78% แต่มากกว่าสองสัปดาห์ก่อน 9.59%
หมอธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า
การดำเนินนโยบายตามคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องจะนำไปสู่หายนะ
โควิด-19 (Covid-19) ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
สถานะปัจจุบันเกี่ยวกับโรคโควิด-19 วัคซีนที่มีนั้นลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้จำกัด แม้จะป้องกันป่วยรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่ประสิทธิภาพก็ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา
ยาที่ใช้กันในประเทศไทยนั้นมีจำกัด และชนิดของยาที่ใช้เป็นหลักนั้นก็มีความแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะมีความพยายามนำยาใหม่เข้ามา แต่ก็ค่อนข้างช้ากว่าสถานการณ์ และปริมาณจำกัด เนื่องจากราคาแพง
คำกล่าวอ้างว่า เศรษฐกิจยอบแยบ ต้องเปิดให้เดินหน้า ณ จุดนี้คงไม่มีใครขวาง เพราะที่ผ่านมาระลอกสอง สาม และสี่ในปัจจุบัน ควบคุมป้องกันโรคได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจนการระบาดกระจายไปทั่ว เกินกว่ามาตรการเดิมแบบระลอกแรกจะได้ผล
แต่คำกล่าวอ้างว่า คนเดินทางจากต่างประเทศตรวจพบติดเชื้อหลักสิบ เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศหลายหมื่นต่อวัน ดังนั้นการเปิดประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้านั้นจึงต้องทำและดำเนินต่อไปนั้นยังไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง แต่ปรากฏการณ์ข้างต้น โดยแท้จริงแล้วกลับสะท้อนว่า สถานการณ์ระบาดในประเทศรุนแรง
สิ่งที่ควรทำคือการสร้างนโยบายและมาตรการที่ควบคุมป้องกันโรคในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ใช่ปล่อยไปตามเดิม โดยเศรษฐกิจเดินได้ แต่สุขภาพคนในประเทศเละเทะ
เศรษฐกิจเดินได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิตในประเทศให้มีความระแวดระวังมากขึ้น ป้องกันตัวมากขึ้น ไม่ใช่สร้างคำคมคารมให้ประชาชนต้องก้มหน้าทนอยู่ในสภาพสังคมที่เสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
เหนืออื่นใด ภาวะ Long COVID คือหลุมดำ ที่ทั่วโลกมีความรู้ทางการแพทย์ชี้ชัดแล้วว่าเกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นปัญหาหนักส่งผลกระทบระยะยาวในอนาคตทั้งต่อคนที่เป็น ครอบครัว และประเทศ โดยที่ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาที่ชัดเจน นอกจากการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
แม้บางวิจัยจะพบว่าการฉีดวัคซีนอาจป้องกันได้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก และประสิทธิภาพก็แตกต่างกันในแต่ละชนิดของวัคซีนที่ใช้ โดย mRNA vaccines มีประสิทธิภาพสูงกว่า viral vector vaccine
การอยู่ร่วมกับโควิดนั้น เป็นสัจธรรม
แต่มิใช่ให้ทำใจรับกับความยับเยินไปเรื่อยๆ