โควิดวันนี้atk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1615 คน เป็น 1,827 คน เพิ่มขึ้น 13.12%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 640 คน เป็น 735 คน เพิ่มขึ้น 14.84%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 11.83% และลดลงกว่าสองสัปดาห์ก่อน 0.48%
ATK 14,229
คำถามคือ ตัวเลขนี้เป็นจริงหรือไม่?
หากให้เหตุผลว่าตัดยอดไม่ตรงกับแต่ละจังหวัด คำถามคือเวลาในการตัดยอดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และจะตรวจสอบอย่างไรว่าทุกตัวเลขจะได้รับการนำมารายงานจริง
หมอธีระ โพสต์ด้วยว่า
ข้อมูลความรุนแรงของ Omicron เทียบกับเดลต้าในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
ล่าสุด Wang L และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องความรุนแรงของ Omicron และเดลต้าในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี ลงใน JAMA Pediatrics เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2565
ดังที่เห็นในตาราง จะพบว่า Omicron นั้นรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า เพราะมีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินลดลง 16%, เสี่ยงต่อการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 34%, เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียูลดลง 65%, และเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 85%
แต่ตัวเลขข้างต้น หากอ่านเผินๆ ด้วยกิเลสและความประมาท จะทำให้เข้าใจผิด กระหยิ่มยิ้มย่องว่าข้าไม่กลัว Omicron มันก็แค่ไวรัสกระจอก ธรรมดา เอาอยู่
ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้คือ Omicron ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไวกว่าเดลต้า และมากกว่าเดลตาถึง 7 เท่า
ตัวเลขข้างต้นสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงเสียชีวิตจึงมากกว่าเดิม นี่คือสถานการณ์จริงที่เราเห็นได้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนัก
และเป็นเรื่องย้ำเตือนไทยเราให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ไม่หลงไปกับคารมคำลวงด้วยกิเลสที่ปั่นให้เข้าใจว่า Omicron กระจอก เอาอยู่ เพียงพอ ก็แค่หวัดธรรมดา หรือตะล่อมให้เข้าใจว่าเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ประจำถิ่นในเวลาอันใกล้
นอกจากเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกหนักใจคือ แม้รักษาหายในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) มาก่อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทั้งเรื่องความคิดความจำ อารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ จนนำไปสู่ความพิการ ทุพลภาพ ส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และสังคมได้อีกด้วย
ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด