รายงานโควิดวันนี้ (3 เม.ย.) ยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง 26,840 ราย จากรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
3 เมษายน 2565 ทะลุ 490 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 999,574 คน ตายเพิ่ม 2,513 คน รวมแล้วติดไปรวม 490,707,565 คน เสียชีวิตรวม 6,173,694 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 89.08% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 83.16%
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 45.84% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 40.07%
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
จำนวนการเสียชีวิตรายวันของไทยเราขณะนี้ติดท็อปเท็นของโลก สะท้อนถึงความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นจากการระบาด
ย้ำเตือนดังๆ ว่า Omicron (โอมิครอน) นั้นรุนแรงน้อยกว่าเดลตาก็จริง การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ก็จริง
แต่ไม่ได้การันตี 100% ดังนั้นหากไม่ป้องกันตัวอย่างดีพอ แล้วเกิดติดเชื้อขึ้นมา ก็จะแพร่ให้แก่คนในครอบครัว เพื่อนฝูงที่ทำงาน
รวมถึงคนอื่นๆ ที่มาพบปะสังสรรค์กันจำนวนมาก และจะทำให้ป่วย และเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม
Omicron นั้นทำให้คนที่ติดเชื้อจำนวนมากกว่าเดลต้าอย่างมหาศาล ดังนั้นแม้ความรุนแรงจะลดลง แต่สุดท้ายแล้วจำนวนจริงที่จะเกิดป่วยและตายก็มีโอกาสที่จะรวมแล้วมากกว่าระลอกเดลตาได้
เหนืออื่นใด การติดเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19)ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ แม้หายแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID ได้ 20-40%
ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุก็ตาม และไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง ก็สามารถเกิดภาวะ Long COVID ได้
เพศหญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศชาย
ผู้ใหญ่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็ก
คนที่ป่วยมีอาการหลายอย่างมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีอาการจำนวนน้อย
คนที่ป่วยรุนแรงมีความเสี่ยงมากกว่าคนป่วยแบบอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
คนที่ฉีดวัคซีนครบอย่างน้อยสองเข็มจะมีความเสี่ยงลดลงบ้าง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ฉีด (mRNA vaccines มีประสิทธิภาพมากกว่า viral vector, ส่วนวัคซีนเชื้อตายไม่มีผลการศึกษาพิสูจน์)
ภาวะ Long COVID ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกเตรียมแผนรับมือ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ประสบปัญหานี้ บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงาน มีปัญหาด้านความคิด ความจำ สมาธิ เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อาการปวดตามบริเวณต่างๆ
ตลอดจนทำให้เกิดปัญหารุนแรงเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน โรคไต รวมถึงปัญหาในระบบทางเดินอาหาร และต่อมไร้ท่อ อาทิ โรคเบาหวาน ฯลฯ
Long COVID เป็นระลอกระยะยาวที่เกิดขึ้น บั่นทอนคุณภาพชีวิต และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง สมาชิกในครอบครัว และสังคม
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร จึงมีความสำคัญมาก