วัคซีนต้านโควิด19 ช่วยลดปริมาณไวรัสได้จริงหรือไม่ ต้องฉีดแบบไหน อ่านเลย

10 เม.ย. 2565 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 09:46 น.

วัคซีนต้านโควิด19 ช่วยลดปริมาณไวรัสได้จริงหรือไม่ ต้องฉีดแบบไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยงานวิจัยล่าสุดจากทีมของมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

วัคซีนต้านโควิด19 เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยไม่ให้ติดเชื้อได้ 100%

 

แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะกับสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมาก

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
ผลของวัคซีนในการลดปริมาณไวรัสหากติดเชื้อโควิด-19

 

งานวิจัยล่าสุดจากทีมของมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก Nature Medicine เมื่อวานนี้ 8 เมษายน 2565

 

ศึกษาสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจจำนวน 565 ตัวอย่าง โดย 118 มาจากการติดเชื้อพันธุ์ดั้งเดิม 293 ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และ 154 มาจากการติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron

สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

 

  • ในกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน การติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมจะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตา

 

  • ในกลุ่มที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า หากฉีดวัคซีนครบสองโดสมานานกว่า 2 สัปดาห์ จะมีปริมาณไวรัสน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

วัคซีนต้านโควิด19 ช่วยลดปริมาณไวรัสได้จริงหรือไม่

 

  • ในกลุ่มที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron พบว่า ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) จึงจะมีปริมาณไวรัสน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หากฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม ถ้าติดเชื้อจะมีปริมาณไวรัสไม่ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

  • ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มนั้น กลุ่มที่ติดเชื้อ Omicron ดูจะมีปริมาณไวรัสน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งสะท้อนว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ Omicron นั้นน่าจะเกิดจากกลไกอื่นๆ มากกว่าที่จะเกิดจากปริมาณไวรัส อาทิ ความสามารถของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดลต้าอย่างมาก

ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ระบาดของ Omicron ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

 

แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น

 

ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด หยุดเรียนหยุดงาน ไปตราวจรักษาให้หายดีเสียก่อน