ยาแก้โควิดมีอะไรบ้าง ฟาวิพิราเวียร์ได้ผลหรือไม่ ทำไม ตปท. ไม่ใช้ อ่านเลย

11 เม.ย. 2565 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2565 | 12:14 น.

ยาแก้โควิดมีอะไรบ้าง ฟาวิพิราเวียร์ได้ผลหรือไม่ ทำไม ตปท. ไม่ใช้ อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอจิรรุจน์เผยผลผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่านการตรวจสอบทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญ

ยาแก้โควิดมีอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ถูกถามถึงเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (Covid-19) โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่ติดต่อกันได้ง่าย

 

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise โดยมีข้อความระบุว่า

 

ทำไมแนวทางการรักษาโควิดของประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิดกันเลย
 

ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่คิดค้นที่ประเทศญี่ปุ่นมาเพื่อใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตอนที่มีการระบาดของโควิดพบว่ายาอาจจะออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดได้ในหลอดทดลอง ในช่วงแรกที่ยังไม่มียาต้านไวรัสโควิดที่มีประสิทธิภาพ จึงได้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในช่วงแรกๆ

อย่างไรก็ตามผลในหลอดทดลองเมื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิดจริงๆ กลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ในปีล่าสุด(2022)ได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยโควิดมากมายหลายการศึกษา ซึ่งทั้งหมดที่มีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่านการตรวจสอบทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญ(Peer review) พบว่า

 

มีผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันทุกการศึกษา คือยาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิดเลย ทั้งกรณีที่อาการน้อย หรืออาการปานกลางถึงรุนแรง ดังตัวอย่างการศึกษาดังต่อไปนี้

 

ยาแก้โควิดมีอะไรบ้าง ฟาวิพิราเวียร์ได้ผลหรือไม่

 

  • การใช้ยาในกลุ่มที่มีอาการน้อย : การศึกษาแรกเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ในผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการน้อยจำนวน 7654 คน โดยเปรียบเทียบการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ภายในสี่วันแรก เทียบกับไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยดูผลการรักษาที่สนใจคือ การต้องใช้อ็อกซิเจน การต้องนอนโรงพยาบาล การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอัตราการเสียชีวิต ผลการศึกษาพบว่าทั้งสองกลุ่มที่ได้ยาและไม่ได้ยาไม่มีความแตกต่างกันเลยในผลการรักษาดังกล่าว
     
  • การศึกษาในกลุ่มที่มีอาการน้อย : การศึกษาที่สองเป็นการศึกษาแบบ RCT แบบ double blinded แปลว่าผู้ป่วยจะถูกสุ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาหลอก โดยที่แพทย์และผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าได้รับยาจริงหรือยาหลอก ซึ่งจะช่วยลด Bias ลงไปได้ การศึกษานี้ทำในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย จำนวน 231 คน โดยจะถูกสุ่มให้ได้รับยาภายในห้าวันแรก โดยดูผลการศึกษาที่สนใจคือ ระยะเวลาที่ PCR จะกลับมาเป็นผลลบ ระยะเวลาที่อาการป่วยหายไป อัตราการนอนโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต ผลการศึกษาพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่มีแตกต่างกันไม่ว่าจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ก็ตาม

 

  • การศึกษาในกลุ่มที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง (ในผู้ป่วยที่ต้องนอนรพ.) : การศึกษาที่สาม ทำในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องนอนรพ.จำนวน 598 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ กับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยดูผลการศึกษาที่สนใจคือ ระยะเวลาที่ต้องนอนรพ. และอัตราการเสียชีวิต โดยพบว่าข้อมูลพื้นฐานเช่น อายุ ค่า BMI  ระดับอ็อกซิเจน และโรคประจำตัวของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ผลการศึกษากลับพบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ กลับมีระยะเวลาในการนอนรพ. และอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

 

  • การศึกษาแบบ Meta-analysis โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาแบบ RCT : การศึกษาที่สี่ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาแบบสุ่ม (Randomized controlled trial: RCT) ที่ทำการเปรียบเทียบการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอก จำนวนหกการศึกษา โดยเปรียบเทียบผลของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด ผลการศึกษาพบว่าการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

จากข้อมูลที่มากมายไปในทิศทางเดียวกัน ในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ยกเลิกการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโดยสิ้นเชิงแล้ว และยังสั่งให้ยุติการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วย และในแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดขององค์การอนามัยโลก(WHO) 

 

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐ(IDSA) ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ(CDC) สมาคมเวชบำบัดวิกฤตของสหรัฐและยุโรป(SCCM และ ESICM) จึงไม่ได้แนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิดเลยแม้แต่คำแนะนำเดียว

 

โดยส่วนใหญ่แล้วในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย และไม่ได้มีความเสี่ยง เช่นสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว จะไม่ได้ประโยชน์จากการใช้ยาต้านไวรัสแต่อย่างใด และถ้ามีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัสจริงๆ การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็แทบจะไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยมาสนับสนุนว่าจะมีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย 

 

ในปัจจุบันแม้ว่าเราจะมียาต้านไวรัส ที่มีผลการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นทางเลือกที่ชัดเจน เช่น Remdesivir, Paxlovid, Monulpiravir, Monoclonal antibody แต่อย่างไรก็ตามยาดังกล่าว จะมีประโยชน์ชัดเจนในกลุ่มที่มีอาการน้อย แต่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน 

 

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีอาการที่รุนแรงมากๆไปแล้ว(เนื่องจากยาต้านไวรัสจะได้ผลดี ถ้าให้เร็วในช่วงต้นๆของการติดเชื้อ แต่จะไม่ได้ผล ถ้ารอไปให้ในวันหลังๆ หรือตอนรับการรักษาในไอซียู) และยาดังกล่าวยังมีราคาที่แพงมากและมีจำนวนที่ไม่เพียงพอหรือเข้าถึงได้ยากอยู่ในปัจจุบัน  วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโควิดที่มีอาการรุนแรงในทุกๆคำแนะนำก็คือการรีบเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นกัน