ลอง โควิด (Long Covid) คืออะไร กลุ่มไหนมีความเสี่ยงมากที่สุด อ่านเลย

16 เม.ย. 2565 | 02:24 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2565 | 09:24 น.

ลอง โควิด (Long Covid) คืออะไร กลุ่มไหนมีความเสี่ยงมากที่สุด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ พร้อมข้อมูลของอาการที่พบบ่อย เด็กติดโควิดมักเกิดอาการแบบไหน

ลอง โควิดคือ เป็นประเด็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน  เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) กำลังแพร่ระบาดในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ดำเนินการสืบค้นข้อมูล เพื่อหาคำตอบมาคลายจ้อสงสัย พบว่า

 

ลองโควิด (Long COVID) คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ ลักษณะอาการอาจคล้าย หรือแตกต่างกันกับอาการในช่วงที่ติดโควิด-19

 

อาการของ Long COVID ที่พบบ่อยนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่าอาการ Long COVID มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย 

 

อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการร่วมที่พบได้บ่อยที่สามารถนำมาสรุป  ได้แก่

 

  • อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  • มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย
  • ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า
  • มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
  • มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง
  • ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ
  • นอนไม่หลับ หลับยาก
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร
  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

 

อาการลองโควิดคือ

 

โดยหลังหายจากโควิด-19 ควรตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ และควรหมั่นสังเกตประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอ 

 

โดยเฉพาะกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า
 

หากมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาและฟื้นฟูอย่างตรงจุด ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า 

 

แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในอาการของ ลอง โควิด แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน หากไม่แน่ใจ ควรมาปรึกษาแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด

 

สำหรับสาเหตุของอาการ Long COVID  นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยมีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ดังนี้

 

เชื้อโควิด-19 อาจทิ้งร่องรอยความเสียหายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะที่เกิดความเสียหายนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ 

 

อาการลองโควิดคือ

 

หากเกิดความเสียหายที่บางส่วนของสมอง อาจเกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) หรือหากมีความเสียหายที่ปอด ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติเวลาหายใจ เช่น หายใจถี่ เหนื่อยหอบง่าย เป็นต้น

 

การทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดีมาก กลายเป็นว่าเมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว ภูมิคุ้มกันอาจหันมาทำลายเซลล์ในร่างกายยังหลงเหลือชิ้นส่วนของไวรัสโควิด-19 ในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ทำงานแล้ว หรือยังทำงานได้อยู่ เป็นผลไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้ต่อต้าน จนมีอาการป่วยเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี อาการ Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว 

 

อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป 

 

มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long covid ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน)

 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (ผู้ป่วยสีเหลืองไปจนถึงสีแดง) โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อลงปอดแล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง

 

เนื่องจากจะเกิดรอยโรคที่มีในปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า

 

นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ 

 

มีรายงานผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ยังมีอาการ Long COVID ได้ ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่การไม่ประมาทไว้ก่อน จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดโอกาสที่จะเป็น Long COVID ที่ดีที่สุด

 

ในเด็กหลังติดโควิด อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เรียกว่า Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู หรือมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้
 

ที่มา : โรงพยาบาลพระรามเก้า