นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้เตรียมเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID โดยดำเนินการตามแนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่พ้นระยะเฉียบพลันและยังคงมีอาการผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกาย
ครอบคลุมการให้คำปรึกษา การตรวจประเมิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย การดูแลรักษา ติดตามอาการ และการส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) ในรูปแบบการให้บริการแบบผู้ป่วยนอก (Onsite และ Online Telemedicine) โดย เปิดคลินิก 1 วัน/สัปดาห์ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ในวันและเวลาราชการ
สำหรับคุณสมบัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิก Long COVID จะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป การให้บริการจะเน้นไปทางติดตามอาการที่เกิดหลังจากหายป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
1.ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long COVID และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว และ2.ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเองและเข้ามารับบริการที่คลินิก Long COVID โดยตรง
รูปแบบการให้บริการแบบ One stop service จัดให้มีการบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว กรณีที่ต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์ จะให้มีการทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตก่อนเข้าพบแพทย์ ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID จะแบ่งเป็น 1.บุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก Long COVID ประกอบด้วย แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาลวิชาชีพ สหวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นักกายภาพบำบัด เป็นต้น 2. กรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ระบบประสาท จิตแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง รายละเอียดดังนี้
โดยสามารถนัดหมายรับบริการผ่าน BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และขยายช่องทางให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านการเบิกจ่ายค่ารักษาตามสิทธิ