6 พฤษภาคม 2565 นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมีผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยที่ประชุมรายงานว่า ปี 65 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม จำนวน 48 จุด
ปัจจุบัน สำนักการระบายน้ำมีแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ที่คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 65 จำนวน 32 โครงการ ซึ่งครอบคลุมจุดเสี่ยงน้ำท่วมจำนวน 7 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมจำนวน 18 จุด ประกอบด้วย
1.งานท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ (Pipe Jacking) จำนวน 2 โครงการ
2.งานก่อสร้างท่อระบายน้ำ/รางระบายน้ำ จำนวน 8 โครงการ
3.โครงการแก้มลิง/ธนาคารน้ำ (Water Bank) จำนวน 3 โครงการ
4.โครงการบ่อสูบน้ำ จำนวน 10 โครงการ
5.โครงการสถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำ จำนวน 8 โครงการ
6.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ จำนวน 1 โครงการ
สำหรับความคืบหน้าการทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำ การขุดลอกคู-คลองและเปิดทางน้ำไหล ของสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 65) การทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ความยาวทั้งหมด 6,196,470 เมตร แผนดำเนินการ 3,030,745 เมตร ผลงานที่ทำได้ 1,776,590 เมตร คิดเป็น 58.61%
ส่วนการขุดลอกคู-คลอง ความยาวทั้งหมด 2,631,354 เมตร แผนดำเนินการ 398,583 เมตร ผลงานที่ทำได้ 221,026 เมตร คิดเป็น 77.78% และเปิดทางน้ำไหล ความยาวทั้งหมด 2,631,354 เมตร แผนดำเนินการ 1,602,343 เมตร ผลงานที่ทำได้ 1,153,364 เมตร คิดเป็น 71.98%
รองปลัดกทม. ยังมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ ติดตามผลการดำเนินการของแต่ละโครงการอย่างต่อเนื่อง และแล้วเสร็จตามแผน รวมทั้งเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ บริเวณโครงการก่อสร้างแนวคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ โดยให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม และเตรียมรถแบคโฮในจุดที่มีการก่อสร้างเพื่อกรณีฉุกเฉิน
นอกจากนี้ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่มีการก่อสร้าง และประสานผู้รับจ้างตรวจสอบและวางแนวป้องกันเศษดินและวัสดุก่อสร้างอุดตันบ่อพักและท่อระบายน้ำ รวมทั้งให้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขต ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณจุดเสี่ยง และจุดเฝ้าระวังที่อยู่ใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้ง