วันนี้ (6 พ.ค. 65) นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขต ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ห้องประชุมศิรินาม ชั้น 3 สำนักการศึกษา โดยมีผู้บริหารสำนักงานเขต ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัด อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
ทุกโรงเรียนจะต้องมีการประเมินตามมาตรการ 3T1V คือ
T : Thai Stop Covid Plus (TSC+) สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน
T : Thai Save Thai (TST) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ
T : Test ตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ
และ V : Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์
พร้อมทั้งสำนักงานเขตและโรงเรียนจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน ในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่ประสงค์ให้นักเรียนเรียนในรูปแบบ On Site อนุญาตให้เรียนในรูปแบบ 4 ON ได้
กรณีเมื่อเปิดเรียนแล้วพบผู้ติดเชื้อยืนยัน 1 ห้องเรียน ตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป หรือพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนเฉพาะห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด และให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 4 On (Online, On - Air, On Hand และ On School Line )
สำหรับห้องเรียนอื่นเปิดเรียน On Site ตามปกติ และให้กำกับดูแลให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid - 19) อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการปรับพื้นฐานให้นักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในทุกระดับชั้น มีความพร้อมที่จะเรียนในชั้นที่สูงขึ้นเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-Site (On-Site's Pre-test) (สยศ.)
โดยครูผู้สอนทำการทดสอบก่อนเรียน (Pre-test)เพื่อตรวจสอบพื้นฐานความรู้ของนักเรียนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ในปีการศึกษาที่ผ่านมาว่านักเรียนพร้อมที่จะเรียนรู้ในชั้นที่สูงขึ้นหรือไม่ เพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 ระดับและวางแผนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมที่จะเรียนในชั้นที่สูงขึ้นต่อไป ได้แก่ กลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานในระดับดี กลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานระดับปานกลาง และกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานระดับควรพัฒนา