วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

07 พ.ค. 2565 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2565 | 15:11 น.

วงเสวนาวิชาการปัญหาการเสพติด ห่วงปัญหาระยะยาว เผยข้อมูลยุคโควิดคนป่วยจากสารเสพติดตบเท้าเข้ารพ.พุ่ง สวนทางโรคอื่นๆ พบทำเด็กฆ่าตัวตายสูง 3-4 เท่า แนะเพิ่มหมวดจัดตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง  

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด

 

โดยมี รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) นพ.สุจิระ  ปรีชาวิทย์ โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์  ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 10

 

ร่วมเสวนาผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
  วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า วันนี้สังคมเห็นด้วยในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และลุ้นการพิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ในสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีความเป็นห่วงผลกระทบกับสุขภาพ

วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

ดังนั้นการใช้กัญชาต้องใช้อย่างถูกต้องเข้าใจผลข้างเคียง ทั้งนี้ จากการศึกษาย้อนหลัง 3 ปีต่อเนื่อง พบกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการใช้กัญชาแบบสูบเพิ่มมากขึ้น ส่วนการกิน การดื่มพบเพิ่มทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะวัยกลางคน ดังนั้นก้าวย่างต่อไปต้องมั่นคง ปลอดภัยกับทุกฝ่าย

 

นพ.สุจิระ กล่าวว่า สาร THC ส่งผลต่อสมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้การถอดรหัสพันธุกรรมและการสร้างโปรตีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดอาการโรคจิตมีหูแว่วหวาดระแวง โรคซึมเศร้า ความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย

 

นอกจากนี้ยังทำให้โรคจิตเวชเดิมแย่ลง ทั้งโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล และPTSD ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้และติดสารเสพติดชนิดอื่นด้วย 
จากการศึกษาในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ทั้งแบบจำกัดข้อบ่งชี้และแบบเปิดกว้างที่ไม่จำกัดข้อบ่งชี้ พบว่ารัฐที่ใช้นโยบายกัญชาแบบเปิดกว้างนั้นมีอุบัติการณ์ของโรคจิตเวชรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาแบบสันทนาการได้พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับประเทศไทยมีรายงานจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 63-64 ช่วงการระบาดของโควิด–19 พบว่า ผู้รับบริการแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในแผนกจิตเวชลดลง แต่ผู้เข้ารับการรักษาโรคจากการใช้สารเสพติดไม่รวมแอลกอฮอล์และบุหรี่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 20-40%

 

การออกนโยบายกัญชาจึงควรสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม รัฐควรทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันบุคคลทั่วไปและเยาวชนจากความเสี่ยงของกัญชารูปแบบต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการอย่างเสรีอีกด้วย

วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

ศ.นพ.ชวนันท์ กล่าวว่า กัญชายังถือเป็นสารเสพติด ผู้ใหญ่จะมีโอกาสเสพติดประมาณ 9% เด็ก วัยรุ่น 17% และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น ซึ่งจากการทำ MRI พบสมองเล็กลง รอยหยักเปลี่ยนไป เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้และสติปัญญา ไอคิวลด มีผลต่อความจำ ความสามารถในการใช้เหตุผล สมาธิ ทักษะแก้ปัญหาชีวิต มีปัญหาความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง พบความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เกเร

 

ทั้งนี้ พบพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่ใช้กัญชา สูง 3-4 เท่า ซึ่งน่ากังวลหากเปิดใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ปัญหาการฆ่าตัวตายอาจจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว เกิดความเครียดทั้งจากกัญชา และการเงิน มีข้อมูลพบการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ความรู้สึก การล่วงละเมิดทางเพศสูงขึ้นด้วย

 

ดังนั้น ข้อเสนอของสมาคมจิตแพทย์ฯ คือ ร่างพ.ร.บ.ที่จะผ่านสภาฯ นั้นขอให้ตีกรอบเฉพาะการใช้ทางการแพทย์ก่อน ส่วนการใช้ที่นอกเหนือจากทางการแพทย์ ขอให้รอพัฒนาระบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เข้าที่ก่อน มีการควบคุมการผลิต ป้องกันการใช้นอกระบบ หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีแล้วค่อยมาว่าเรื่องการใช้กัญชาด้านอื่น ๆ ต่อไป

วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

นายไพศาล กล่าวถึงนโยบายกัญชาของภาครัฐกับผลกระทบของร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ของพรรคภูมิใจไทยต่อสังคมไทย ว่า กัญชาหรือพืชกัญชา ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ.1961 (Single Convention 1961) การแก้ไขประกาศ สธ. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จะส่งผลทำให้พืชกัญชาในส่วนที่มีสารTHC สูง

 

ซึ่งมิใช่สารสกัด ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประกาศ สธ.เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 จึงขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศใดออกกฎหมายลักษณะนี้ จะทำให้การค้ากัญชาผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ทำให้มีใช้เพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง

 

ซึ่งประเทศไทยยังขาดความพร้อมในเรื่องนี้ อาจส่งผลเสียมากต่อสังคมและประชาชน มีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดอาชญากรรม อุบัติเหตุ ปัญหาสังคม

 

ทั้งนี้ การจัดทำร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มีจุดอ่อนหลายประการ เน้นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาที่เอื้อต่อกลุ่มทุน ขาดมาตรการคุ้มครองสุขภาพ ขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสม

 

ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศจะมีมาตรการเข้มงวดในเรื่องนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลและสธ.ยังละเลยการเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
 

วงเสวนาปัญหายาเสพติด แนะตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง ระยะยาว

ด้าน ดร.ภูวิชชชญา กล่าวถึงข้อเสนอกฎหมายกัญชาจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่เสนอนั้น มีบางอย่างที่ก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องการสื่อสาร และการนำไปบังคับใช้

 

ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือให้มีการปรับบทนิยามในมาตรา 3 มาตรา 4 เรื่องการใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน และเพิ่มมาตรการรองรับการครอบครองกัญชา หรือกัญชงภายหลังการสิ้นอายุการแจ้ง หรือสิ้นอายุใบอนุญาตว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และพิจารณาบทกำหนดโทษกรณีที่ไม่จดแจ้งหรือไม่ขออนุญาตครอบครองภายหลังสิ้นอายุใบอนุญาต

 

เพราะในร่างฯ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ และควรมีการกำหนดหมวดใหม่ ในร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ให้มีการตั้งกองทุนสำหรับเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง เพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ภายใต้การกำกับของสธ. จะมาใช้กองทุนของ ป.ป.ส.ไม่ได้ ซึ่งเท่าที่ดูร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ได้กำหนดตรงนี้ไว้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องมี เพราะสุดท้ายพ.ร.บ.อาจจะบังคับใช้ไม่ได้จริง

 

เนื่องจากปัจจุบันมีการมองในมุมการแพทย์ การรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้มองในมุมที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะเท่าที่ดูน่าจะเป็นทุนใหญ่ที่มาขออนุญาต ดังนั้นต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ให้ชัดเจน เพราะถ้าผลักดันภายหลังเป็นเรื่องยากมาก.