วัคซีนต้านโควิด19 "ChulaCov19" จะใช้ได้เมื่อไหร่ ทำไมถึงล่าช้า คลิกอ่านเลย

10 พ.ค. 2565 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 00:46 น.

วัคซีนต้านโควิด19 "ChulaCov19" จะใช้ได้เมื่อไหร่ ทำไมล่าช้า คลิกอ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยไขข้อสงสัย อัพเดทขั้นตอนล่าสุด

วัคซีนต้านโควิด19 เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) โดยมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อตามการพัฒนาของแต่ละบริษัท

 

ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาวัคซีนโควิดเช่นเดียวกัน 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

อัพเดทล่าสุด !! วัคซีนโควิดชนิด mRNA ของแพทย์จุฬาฯ อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ถือว่าเร็วหรือช้าอย่างไร

 

นับจากมีโควิดระบาดเริ่มต้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ได้เร่งมือค้นคว้าวิจัยวัคซีนสำหรับโรคใหม่กันอย่างเร่งด่วน

 

และโดยที่วัคซีนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและเป็นคนปกติด้วย จึงต้องใช้เวลาในการวิจัยให้มั่นใจ โดยเฉลี่ย 5-10 ปี จึงจะสามารถมีวัคซีนออกมาใช้ได้

 

แต่สำหรับกรณีวัคซีนโควิด โลกเรามีวัคซีนออกมาใช้หลังจากวิจัยประมาณหนึ่งปีเท่านั้น  ซึ่งถือว่าเร็วมาก

 

ทั้งนี้เนื่องจากความรุนแรงของโควิด  ทำให้ทั่วโลกต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และผ่อนปรนเรื่องการวิจัยวัคซีน ที่แม้ยังเน้นมาตรฐานความปลอดภัยและผลข้างเคียง ตลอดจนประสิทธิภาพประสิทธิผลแล้ว

 

แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานการวิจัย ก็เข้าใจในสถานการณ์พิเศษในรอบ 100 ปี ที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถ และความพยายาม ในการทำให้วัคซีนออกมาได้เร็วกว่าสถานการณ์ปกติ

 

แล้ววัคซีนที่ได้ดังกล่าว ก็จะถูกนำมาใช้ ภายใต้เงื่อนไขที่ใช้คำว่า “ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือ EUA

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางด้านการวิจัยวัคซีนอยู่บ้าง โดยที่มีองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ที่อยู่ในระดับสูง

 

ก็ได้เริ่มทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดมาเป็นลำดับ จนในปีที่แล้วมีข่าวความคืบหน้าของวัคซีนคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ (ChulaCov19)

 

ที่อาจจะสามารถจบการทดลองวิจัยในมนุษย์เฟส 3 และประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในต้นปี 2565

 

แต่ขณะนี้มีข่าวออกมาว่ากำลังจะเริ่มทดลองเฟส 1 และอย่างเร็วสุดจะสามารถนำมาใช้ได้ในปลายปี 2565 หรืออาจเป็นต้นปี 2566

 

วัคซีนต้านโควิด19 "ChulaCov19" จะใช้ได้เมื่อไหร่

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ลองติดตามในรายละเอียดกันดู

 

หลักการและแนวทางของการวิจัยพัฒนาวัคซีนใหม่ จะมีขั้นตอนดังนี้

 

1.ศึกษาและสะสม จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ของตนเอง ที่จะสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบขึ้นมาใช้ในการทดลองได้

 

2.ทำการทดลองในสัตว์ทดลอง เริ่มจากสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู กระต่าย ไปจนถึงสัตว์ทดลองขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์คือลิง

 

3.ทำการทดลองในอาสาสมัคร ซึ่งแยกเป็น 3 เฟส ได้แก่

 

  • เฟสที่ 1 เป็นการหาขนาดวัคซีนที่เหมาะสม และทดสอบเน้นเรื่องความปลอดภัยตลอดจนผลข้างเคียง
  • เฟสที่ 2 เน้นการหาระดับภูมิคุ้มกัน ที่สามารถป้องกันโรคได้
  • เน้นการดูประสิทธิผล ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ

4.เริ่มฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมเก็บข้อมูลประกอบไปด้วย เพื่อที่จะขึ้นทะเบียนฉีดในสถานการณ์ปกติต่อไป

 

กล่าวเฉพาะวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งคือสร้างองค์ความรู้ มาสู่ขั้นตอนที่สองคือ ทดลองในหนูและลิง ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง

 

ได้เริ่มทดลองในมนุษย์เฟสที่ 1 ไปตั้งแต่ปี 2564  โดยในช่วงการทดลองที่ผ่านมานั้น ได้ใช้โรงงานในต่างประเทศสำหรับผลิตวัคซีนต้นแบบจำนวนน้อยเพื่อทดลองเฟส 1  ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ mRNA และเปลือกหุ้มเนื้อวัคซีน (LNP : Lipid NanoParticle)

 

หลังจากที่ประสบความสำเร็จการทดลองในอาสาสมัครเฟส 1 ดังกล่าวแล้ว เมื่อจะเริ่มทดลองในเฟส 2/3 ซึ่งจะต้องทดลองในอาสาสมัครจำนวนมาก จึงต้องใช้วัคซีนจำนวนมากขึ้นด้วย

 

เพื่อให้สามารถยืนบนขาตนเองได้ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯร่วมกับบริษัทไบโอเนตเอเชีย จึงนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสูตรของเราเองนั้น

 

นำมาผลิตในไทยด้วย ซึ่งก็เกือบเหมือนกับวัคซีนที่ไทยให้ต่างประเทศผลิตทั้งหมด มีความแตกต่างในขั้นตอนปลีกย่อยบ้างเล็กน้อย

 

เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็มีความเห็นต่างเป็นสองแนวทาง

 

  • สามารถเดินหน้าทดสอบในเฟส 2/3 ได้เลย เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่เหมือนกับที่ได้ทดลองมาแล้ว ประกอบกับโควิดเป็นสถานการณ์ระบาดกว้างขวางทั่วโลก และจะประกาศใช้วัคซีนแบบสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทำนองเดียวกับสหรัฐฯและยุโรป

 

  • ต้องถอยกลับไปทำการทดลองในสัตว์ทดลองใหม่เลย เริ่มตั้งแต่หนู โดยถือว่าเป็นวัคซีนคนละตัวกัน เป็นวัคซีนใหม่

 

ในที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ตัดสินใจให้ทีมวิจัยต้องถอยกลับไปทำการทดลองในหนูใหม่

 

ผลคือ เกิดความล่าช้า และกำหนดการที่วัคซีนจะสำเร็จในต้นปี 2565 ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกราวหนึ่งปี เพื่อทำการวิจัยย้อนหลังดังกล่าว

 

ทั้งนี้ในระบบการพัฒนาวัคซีนโควิดของไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณและสภาพัฒน์ ได้ร่วมกันผลักดันให้งบวิจัยอย่างเต็มที่กว่า 2000 ล้านบาท

 

รวมทั้งได้มอบนโยบายในหลักการ ให้ดำเนินการโดยรวดเร็วที่สุด เพราะโรคระบาดเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยให้คงมาตรฐานไว้ในระดับไม่น้อยกว่าของต่างประเทศ

 

แต่เมื่อลงในรายละเอียด ในระดับปฏิบัติการ ก็เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจากมุมมองของผู้ที่ควบคุมกระบวนการวิจัย ทำให้คณะวิจัยต้องถอยกลับไปอย่างน้อย 6-12 เดือน

 

ก็คงต้องให้กำลังใจคณะวิจัยที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ เสียสละและเหนื่อยยากมาตลอด ได้มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับประชาชนคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

 

ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จนทำให้วัคซีนต้องล่าช้าออกไปนั้น สมควรจะต้องได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน จริงจังและเป็นระบบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ทุกอย่างลุล่วงโดยเร็วต่อไป