"บุหรี่ไฟฟ้า" ไทยยิ่งแบนยิ่งเสียประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ-สุขภาพ

11 พ.ค. 2565 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 20:51 น.

"บุหรี่ไฟฟ้า" ไทยยิ่งแบนยิ่งเสียประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ-สุขภาพ เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเผยล่าสุดอียิปต์เพิ่งประกาศปลดล็อกแบนการนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” และ เฟซบุ๊กเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลอียิปต์เพิ่งประกาศปลดล็อกแบนการนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่ซาอุดิอาราเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเคยแบนมาก่อนและก็เปลี่ยนมาควบคุมแทน 

 

ทำให้การดำเนินการของรัฐบาลอียิปต์สอดคล้องกับแนวทางของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่เป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังแบนบุหรี่ไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำซึ่งรวมถึงหน่วยบริการสาธารณสุขหรือ National Health Service ของอังกฤษ และกระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ต่างก็มีจุดยืนที่เป็นบวกต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่ช่วยทำให้ผู้สูบบุหรี่ห่างไกลจากบุหรี่ที่มีการเผาไหม้ได้ 

ขณะเดียวกันรัฐบาลอียิปต์ต้องการจัดการบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนในประเทศ จะได้ดูแลคุณภาพสินค้าให้กับคนใช้ ควบคุมการซื้อขายไม่ให้เด็กๆ มาซื้อได้ และจะช่วยให้ประเทศเก็บรายได้เพื่อมาฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 (Covid-19) ด้วย
 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Statista ในเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า ปัจจุบัน ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 22,950 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณกว่า 7 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะขยายตัวทุกปีที่อัตราการเติบโตต่อปี 4.19% จนถึงปี 2070

 

"บุหรี่ไฟฟ้า" ไทยยิ่งแบนยิ่งเสียประโยชน์
 

นายอาสา กล่าวอีกว่า แม้ฮ่องกงจะเพิ่งประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่อุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (4 แสนล้านบาท) กลับไม่มีการแบนแต่อย่างใด

 

ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในจีนมีส่วนแบ่งการตลาด 1.5% ซึ่งรัฐบาลจีนเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดนี้ และไม่อยากปล่อยให้การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าทำกันในพื้นที่สีเทาที่ไม่ได้มีการควบคุม 

รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายใหม่โดยให้บุหรี่ไฟฟ้าไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การยาสูบจีน ซึ่งจะมีกฎระเบียบครอบคลุมไปถึงการควบคุมผู้ผลิตซึ่งต้องมีการขอใบอนุญาตก่อนการทำธุรกิจ มีการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้า ส่วนร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งก็ต้องขอใบอนุญาตขายสินค้ากับองค์การยาสูบก่อน
 

ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยก็เติบโตมากถึง 45 เท่าภายใน 4 ปี ซึ่งหากกระทรวงสาธารณสุขยังปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกแบน ก็เท่ากับปล่อยให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นแบบควบคุมไม่ได้เลย

 

และประเทศก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งด้านเศรษฐกิจหรือด้านสุขภาพที่ สธ. มักจะอ้างว่าไม่อยากให้ประชาชนหรือเด็กมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะไม่สามารถควบคุมและบังคับใช้กฎหมายได้จริง