วันที่ 13 มี.ค.65 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยงานวิจัยใหม่จาก มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ที่พบว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับภาวะก่อนเบาหวาน หรือ Prediabetes” โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการใช้ข้อมูลสำรวจสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของประชาชนอเมริกา (Behavioral Risk Factor Surveillance System Survey : BRFSS) ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจที่ใหญ่ที่สุดมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 600,000 คนทั่วประเทศ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการ สูบบุหรี่ไฟฟ้า กับภาวะก่อนเบาหวาน (การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ของโรคเบาหวาน)
ผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงต่อการมีระดับ น้ำตาลในเลือด สูงกว่าปกติหรือภาวะก่อนเบาหวานเพิ่มขึ้น 22% ส่วนในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อนเลย ยิ่งพบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 54% โดยคนที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน มีแนวโน้มสูงที่จะเป็น เบาหวาน ในอนาคต
ผลการศึกษาครั้งนี้ตรงกับผลของการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานตามรายงานของแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 โดยคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 30-40% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนสาเหตุที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานน่าจะเกิดจากสารนิโคตินที่มีในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งโดยทั่วไปจะมีปริมาณสูงกว่า บุหรี่ ธรรมดา
เคยมีงานวิจัยระบุว่า นิโคติน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ นิโคตินยังทำลายการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ทำลายระบบสมดุลของกลูโคสในร่างกาย ส่งผลเสียต่อการทำงานของอินซูลิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นคำอธิบายของความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและโรคเบาหวาน
“ยังมีความเข้าใจที่ผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอยู่หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งคือกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักจะให้ข่าวว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดเบาหวานเพราะมีสารให้ความหวานปริมาณที่ต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความจริง จากผลวิจัยนี้ก็ย้ำว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยและเพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวาน นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ถูกรับรองโดยเอฟดีเอสหรัฐฯ ว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลตรงกันว่า ประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ต่ำกว่าการใช้ยาช่วยเลิกหรือการหักดิบ ดังนั้นการจะเลิกบุหรี่ควรปรึกษาแพทย์และใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ที่องค์การอาหารและยารับรองแล้วเท่านั้น” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวย้ำ
ด้าน ดร.ชยัม บิสวาล อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับผลการศึกษาครั้งนี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามักจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ความพยายามในการรณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเพิ่มความพยายามด้านสาธารณสุขในการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ไฟฟ้าด้วย