ลองโควิดคืออะไร มีผลกระทบแค่ไหน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ หลังจากที่โควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) แพร่กระจายไปทั่ว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจาก Long COVID
Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์เรื่องนี้ใน JAMA Forum วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
คาดประมาณว่าสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป อย่างน้อย 9.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 10 เท่า
เคยมีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID นั้น มีถึง 44% ที่ไม่สามารถทำงานได้ และ 51% ต้องจำกัดระยะเวลาทำงานลง
เมื่อประเมินภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้แรงงานต้องออกไปจากระบบมากกว่า 1,000,000 คน
ทำให้แรงงานเหล่านั้นสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ภาวะ Long COVID มีหลากหลายอาการ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างครบถ้วนในเวลาอันสั้น
แต่หากดูอาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเทียบเท่ากับโรค Chronic fatigue syndrome
ก็จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงราวคนละ 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี แต่หากเป็นโรคอื่นที่รุนแรง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก
ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่การขาดแคลนแรงงาน การขาดรายได้จากการทำงานของแต่ละคน แต่จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ
รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะ "ลองโควิด" และค่าชดเชยหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ต้องช่วยเหลือ
ทำให้มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ที่อาจสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทยนั้น
ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวนที่ตรวจ ATK แล้ว
จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงราว 5-6 ล้านคน แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วและหวังว่าจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้บ้าง
ก็ยังอาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 600,000-1,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก
และจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบรองรับ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา ให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนทางสังคมต่างๆ
การให้ความรู้อย่างทันท่วงทีแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ตระหนักว่าปัญหา Long COVID นั้นมีอาการมากมายหลายหลายระบบของร่างกาย เรื้อรัง
แนะนำวิธีประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง และแนวทางการเข้าถึงบริการ
ควรมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนนโยบายและมาตรการในอนาคต
และที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดว่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นกิจวัตร
ใส่หน้ากากนะ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ
โควิด...ไม่จบที่หายและตาย แต่ที่ทรมานระยะยาวคือ Long COVID