นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยวานนี้ (28 พ.ค.) ว่า ในช่วงฤดูฝนอากาศร้อนชื้นซึ่งทั้งสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิด โรคทุเรียนรากเน่า โคนเน่า และผลเน่า สาเหตุจาก เชื้อรา Phytophthora palmivora ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่สุดของ ทุเรียน เนื่องจากทำให้ ต้นทุเรียน ที่กำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้
ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวังการเกิดโรคดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงพัฒนาผลและเก็บผลผลิต
วิธีสังเกต ทุเรียนติดเชื้อราแล้วหรือไม่
อาการที่ราก จะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย
อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย
อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลือง บริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน
อาการที่ผล เกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล จุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล ในสภาพที่มีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล โดยพบอาการโรคได้ตั้งแต่ผลที่ยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด โรคผลเน่าพบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อนแต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และระหว่างการบ่มผลให้สุก
สำหรับ การป้องกัน-กำจัดโรคทุเรียนรากเน่า โคนเน่า และผลเน่า นั้น สามารถทำได้โดย
เชื้อราสาเหตุของโรคเป็นเชื้อที่อยู่ในดิน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องไม่วางผลผลิตสัมผัสกับดิน โดยให้ปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาดหรือวางบนรถเข็น เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค
การขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค โดยต้องไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง