วัคซีนต้านโควิด19 ปัจจุบันมีหลายสูตรที่สามารถฉีดได้ โดยในเบื้องต้นต้องฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบตามมาตรฐาน
ส่วนเข็มกระตุ้นจะเป็นวัคซีนชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการปูพื้นฐานการฉีดมากอย่างไร
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
อัพเดตความรู้
1. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) มีความจำเป็น และควรใช้ mRNA vaccine
Au WY และคณะ เผยแพร่ผลการวิจัย Network Meta-analysis ลงในวารสารการแพทย์ระดับสากล British Medical Journal วันที่ 31 พฤษภาคม 2565
สาระสำคัญที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ การฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 3 เข็มนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ
แต่หากสองเข็มแรกได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ มาก่อน การฉีดวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาได้ดีขึ้นมาก
2. การเสียชีวิตจาก COVID-19 เทียบกับไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่น
หากเราเคยได้ยินคำเปรียบเปรยว่ายุงนั้นร้ายกว่าเสือ
ข้อมูลจาก Office for National Statistics สหราชอาณาจักร เผยแพร่มาเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
โรคโควิด-19 นั้นร้ายกว่าไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่น
เพราะจำนวนการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 นั้นสูงกว่าไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่นอย่างมาก
ทั้งนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การเสียชีวิตจากโควิด-19 ของสหราชอาณาจักรนั้นแสดงให้เห็นทั้งจำนวนที่ตายจากโควิด-19 (Death from COVID-19)
และที่ตายจากเหตุอื่นโดยมีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย (Death involving but not due to COVID-19)
ONS UK แสดงให้เห็นรายละเอียดการเสียชีวิตทั้งสองประเภท แตกต่างจากที่กระทรวงสาธารณสุขไทยที่นำเสนอเฉพาะการตายจากโควิด-19 เท่านั้น
คงจะเป็นการดี หากไทยเรานำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดเหมือนสากลโลกที่ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ประชาชนในสังคม เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์จริงอย่างลึกซึ้ง
และเป็นประโยชน์ที่จะเสริมสร้างความรู้เท่าทัน นำไปสู่การตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์
แต่หากมีข้อมูล โดยนำเสนอเฉพาะบางส่วน ก็จะทำให้ทุกคนเห็นเพียงเศษเสี้ยวของภาพทั้งหมด และเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้
เราจะตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
แต่จะทำเช่นนั้นได้ ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และทำให้มีแหล่งข้อมูลรายละเอียดที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ป.ล.หากจะลองคาดประมาณจำนวนเสียชีวิตรวมของไทย ทั้ง Death from COVID และ Death with COVID
โดยตั้งสมมติฐานว่าเหมือนธรรมชาติที่พบในสหราชอาณาจักร เราอาจบวกเพิ่มขึ้นไปอีกเฉลี่ยราว 30%
แต่คงจะดีกว่า หากมีการนำเสนอตัวเลขที่มีจริงออกมาให้รับทราบโดยตรง