วัคซีนโควิด "ฉีด mRNA 3 เข็ม"-"ติดเชื้อ" กันโอมิครอนไม่ได้เพราะอะไร เช็คเลย

15 มิ.ย. 2565 | 21:11 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 00:33 น.

วัคซีนโควิด "ฉีด mRNA 3 เข็ม"-"ติดเชื้อ" กันโอมิครอนไม่ได้เพราะอะไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการศึกษาโดยอิมพิเรียลคอลเลจที่อังกฤษจากบุคลากรทางการแพทย์

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

น่าสนใจมาก Omicron (โอมิครอน) เก่งกว่าที่เราคิด แม้ติดเชื้อหายดีแล้ว ภูมิคุ้มกันก็ไม่ค่อยพอในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

 

มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจ

 

โดยอิมพิเรียลคอลเลจ (Imperial College London) ที่อังกฤษ
ซึ่งทำการศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ (HCW) จำนวน 731 คน ในช่วงมีนาคม 2563 ถึงมกราคม 2565

 

โดยที่บุคลากรดังกล่าวมีประวัติที่หลากหลาย ทั้งติดโควิดด้วยไวรัสที่แตกต่างกัน ทั้งอู่ฮั่น อัลฟ่า และเดลตา แต่ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน mRNA  3 เข็ม

 

เมื่อทำการศึกษาแล้ว พบความจริงที่น่าสนใจได้แก่ พบว่าผู้ที่ติดโควิด-19 จากไวรัสโอมิครอน เมื่อหายดีแล้ว

มีระดับภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่ขึ้นสูงไม่มากพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำ(Reinfection)

 

และการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ซึ่งเป็นชนิด mRNA ก็มีระดับภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับไวรัสโอมิครอนสูงไม่มากนัก ทำให้มีโอกาสติดไวรัสโอมิครอนได้มากพอสมควร

 

เพียงแต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ที่ต่อสู้ป้องกันอาการไม่ให้รุนแรงนัก

 

สาเหตุที่การฉีดวัคซีน มีระดับภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัสโอมิครอนต่ำกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม ไม่ว่าจะเป็นอู่ฮั่น อัลฟ่า หรือเดลตา

 

วัคซีนโควิด "ฉีด mRNA 3 เข็ม"-"ติดเชื้อ" กันโอมิครอนไม่ได้

 

เนื่องจากไวรัสโอมิครอน มีการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนาม (Spike) มากถึง 36 ตำแหน่ง

 

ทำให้วัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยใช้โครงสร้างส่วนหนามของไวรัสสายพันธุ์เดิม รับมือกับส่วนหนามของไวรัสโอมิครอนได้ไม่เต็มที่
 

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การติดโอมิครอน และมีภูมิคุ้มกันเพื่อจะป้องกันโอมิครอนเอง ก็ป้องกันได้ไม่ดีนักเช่นกัน

 

ข้อค้นพบดังกล่าว จึงทำให้ความหวังในการที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จากการระดมฉีดวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 มีความเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

 

มีความจำเป็นที่ต้องเร่งการพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ใช้โครงสร้างส่วนหนามของไวรัสโอมิครอนเป็นหลัก

 

นอกจากนั้น ก็ทำให้เชื่อว่า การจะจบหรือยุติของโควิดโดยสมบูรณ์ ก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น และต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น

 

เนื่องจากจะยังมีผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ และผู้ที่จะติดเชื้อทั้งที่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากพอสมควร