จากกรณีที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนนักดูดาวชม พาเหรดดาวเคราะห์ 5 ดวง ในวันที่ 24-25 มิถุนายนนี้ซึ่งจะปรากฏพร้อมกันบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก เรียงกันเป็นแนว ตามเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ พร้อมด้วยดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เวลาประมาณ 04.40 น. เป็นต้นไป จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย
ดาวเคราะห์ 5 ดวงในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.ดาวพุธ
2.ดาวศุกร์
3.ดาวอังคาร
4.ดาวพฤหัสบดี
5.ดาวเสาร์
การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าพร้อมกัน และเรียงเป็นแนวเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก
ส่วนมุมมองจากอวกาศจะพบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างโคจรกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น
โอกาสที่จะมาเรียงตัวในแนวเดียวกันปรากฏให้ผู้สังเกตบนโลกในเวลาเดียวกันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏเรียงกันมากถึง 5 ดวง หากท้องฟ้าปลอดโปร่งไม่มีเมฆฝน ชาวไทยจะมีโอกาสได้เห็นความสวยงามของปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ก่อนรุ่งเช้านี้ได้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับการเรียงลำดับกันดังกล่าวข้างต้นเป็นการเรียงกันตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ โดย ดาวพุธ อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากที่สุด ถัดไปเป็นดาวศุกร์ ตามด้วย ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ หากท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆบดบังจะสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ทั้งห้าดวงนี้ด้วยตาเปล่าได้ในเวลาเดียวกัน
ในขณะที่มีข้อมูลระบุว่า ปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ 5 ดวงนี้เรียงกันนี้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นและเห็นกันได้บ่อย