วันนี้ (26 มิ.ย.65) ฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.5 พบว่ามีการติดเชื้อสะสม 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 25 ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 9
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความทางโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐาน และแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล
ทั้งนี้แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ ในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ แม้ช่วงนี้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้คงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์
นอกจากนี้การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และป้องกันอาการรุนแรงได้