รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.1 ราว 3 เท่า
ข้อมูลจากทาง Pfizer และ Moderna ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อ 27/6/2022 และ 22/6/2022 ตามลำดับ
ผลออกมาสอดคล้องกัน และชี้ให้เห็นว่า Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น
อันเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่แตกต่างจากเดิม
ส่งผลให้เห็นจำนวนเคสติดเชื้อทั่วโลกที่มากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทั้งในคนที่ติดเชื้อใหม่แม้จะเคยได้รับวัคซีนมาก่อน รวมถึงคนที่ติดเชื้อซ้ำ (reinfection) แม้จะเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม
สมรรถนะของ BA.5 ในการจับเซลล์ปอด
ข้อมูลจากห้องทดลองชี้ให้เห็นว่า BA.5 สามารถจับกับเซลล์ปอดผ่านกลไกของตัวรับ ACE2-TMPRSS ได้มากกว่า Omicron สายพันธุ์พี่ๆ
ทั้งนี้มีลักษณะคล้ายกัยสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกเพียงพอที่จะบอกว่าส่งผลให้เกิดป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากกว่าเดิม
ด้วยข้อมูลวิชาการที่มี จึงมีแนวโน้มว่า การฉีดวัคซีนน่าจะช่วยลดความรุนแรงและลดโอกาสเสียชีวิตได้อยู่
แต่แม้จะได้รับวัคซีนไปแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม ก็มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น
เพราะสมรรถนะของเชื้อนั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น
และจับกับเซลล์ผ่าน ACE2-TMPRSS pathway ได้ดีขึ้น
สถานการณ์สังคมในปัจจุบัน การเว้นระยะห่างทำได้ยากขึ้น แต่ละพื้นที่มีความแออัดมากขึ้น พบปะติดต่อกันบ่อยขึ้น
ดังนั้นหนทางที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อได้ ดังที่บอกมาตลอดทุกวันคือ "การใส่หน้ากาก"
เพราะสิ่งที่ควรตระหนักเสมอคือ Long COVID is real และจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
สมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
ใส่หน้ากากสำคัญมาก