น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
Evusheld : ผลิตภัณฑ์ล่าสุดของ AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) ใช้ป้องกันโควิดได้ 83% โดยฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว อยู่ไปนาน 6 เดือน
วันนี้ 29 มิถุนายน 2565 เลขาธิการอย.แจ้งว่า ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนของผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันชนิดคู่ ชื่อว่า Evusheld เป็นของบริษัท AstraZeneca
โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นภูมิคุ้มกัน (Monoclonal Antibody) ที่ได้จากเม็ดเลือดขาว (B-cell) ของผู้ที่ติดโควิดแล้วสร้างขึ้นมา
โดยได้นำภูมิคุ้มกันสองชนิดมารวมอยู่ในเข็มเดียวกัน (tixagevimab + cilgavimab) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับโควิดทันที ไม่ต้องรอระยะเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
โดยมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยเป็นโควิดแบบมีอาการได้ 83%
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว บริษัท AstraZeneca ได้รับสิทธิ์ในการวิจัยพัฒนาต่อยอด จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt รัฐเทนเนสซี ของสหรัฐอเมริกา
และได้นำมาพัฒนาต่อยอด จนประสบความสำเร็จ มีการทดลองศึกษาในระยะที่ 3 จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดัง(NEJM)
เป็นการศึกษาโดยฉีดผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี เช่น กลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ กลุ่มล้างไต หรือได้รับเคมีบำบัด เทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก (Placebo)
พบว่าในช่วง 3 เดือนแรก มีประสิทธิผลป้องกันโควิด 77% ถ้าผ่านไป 6 เดือน จะป้องกันได้มากถึง 83%
โดยในกลุ่มการศึกษานั้น 75% เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวและเสี่ยงต่อการติดโควิดแบบรุนแรง
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเมื่อธันวาคม 2564 และขึ้นทะเบียนในยุโรปเดือนมีนาคม 2565 และในมิถุนายน 2565 อย.ไทยก็ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผลิตภัณฑ์นี้(Evusheld) ไม่ใช่ยารักษาโรคโควิด แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วยเป็นโควิด
แต่มีความแตกต่างกับวัคซีนตรงที่ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคือ การได้รับภูมิคุ้มกันเข้าไปเลยโดยตรง (Passive) ได้ภูมิคุ้มกันเร็วสามารถป้องกันโรคได้ทันที แต่อยู่ไม่นาน จะใช้หมดไปในที่สุด
ส่วนการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (Active) ซึ่งจะทำให้อยู่ได้นานกว่า แต่ต้องทิ้งระยะเวลาช่วงหนึ่งหลังฉีด จึงจะมีภูมิคุ้มกันสูงพอป้องกันโรค
กล่าวโดยสรุป
นับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด ที่เข้ามาเสริมการรับมือกับโควิด-19 ในกลุ่มการป้องกันโรค