รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
29 มิถุนายน 2565 ทะลุ 550 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 630,578 คน ตายเพิ่ม 1,125 คน รวมแล้วติดไป 550,477,419 คน เสียชีวิตรวม 6,353,314 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 74.31% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 49.68%
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้กระทรวงสาธารณสุขไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดตเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19
1.Omicron (โอมิครอน) ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกก่อนถึง 7 เท่า
ข้อมูลล่าสุดจาก Office for National Statistics ของสหราชอาณาจักร ที่เผยแพร่เมื่อ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
เปรียบเทียบความเสี่ยงในการเกิดติดเชื้อซ้ำ ระหว่างระลอก Omicron กับระลอกก่อนหน้า
พบว่า ระลอก Omicron ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกก่อน 7 เท่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ไม่ฉีดวัคซีน, กลุ่มคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนแต่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ, และกลุ่มคนที่อายุไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะวัยใด เพศใด กลุ่มอาการใด ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนมาก่อนก็ตาม
ล้วนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากในยุค Omicron หากไม่ป้องกันตัวให้ดี
การติดเชื้อซ้ำ มีงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าจะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นหลายเท่า
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID (ลองโควิด) อีกด้วย
2.Long COVID ในสหราชอาณาจักร
Thompson EJ และคณะ จากสหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล Nature Communications เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยศึกษาจาก 10 การศึกษาที่มีการติดตามผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่ามีอัตราการเกิดภาวะ Long COVID นานตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปถึง 7.8-17%
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกประเทศในการเตรียมรับมือ
ทั้งเรื่องระบบการดูแลรักษา ติดตามประเมินผล ฟื้นฟูสภาพ บริการสนับสนุนด้านสังคม การใช้ชีวิต และการทำงาน
รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด